คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1064/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินค่าปรับและค่างานที่สูงขึ้นที่ลูกหนี้ (จำเลย) ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางและค้างชำระอยู่ แม้จะปรากฏว่าเหตุผิดสัญญาที่ทำให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับการชำระเงินค่าปรับแก่เจ้าหนี้เป็นรายวันไปทุกวันที่ยังผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้เงินค่าปรับดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันไป ฉะนั้น มูลหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทสหวิศวการโยธาจำกัด ลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2512 ต่อมากรมทางหลวงเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เงินค่าปรับและค่างานที่สูงขึ้นที่ลูกหนี้ผิดสัญญาและค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเงิน 4,579,600 บาท

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้ว เสนอความเห็นต่อศาลชั้นต้นว่าลูกหนี้ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างทางต่อกรมทางหลวงเจ้าหนี้ทุกฉบับ จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันให้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญา แต่เนื่องจากเหตุผิดสัญญาเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ มูลหนี้ที่ขอรับชำระจึงเกิดขึ้นก่อนและมีสิทธิได้รับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ส่วนค่าปรับที่จะได้รับชำระหลังจากนั้นต้องห้ามมิให้ขอรับชำระตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้ควรได้รับชำระเงินค่าปรับตามสัญญาจ้างที่ ข.ช. 6/2511 ลงวันที่ 30 กันยายน 2511 เต็มตามขอจำนวน 29,250 บาท ค่างานที่สูงขึ้นเพราะเหตุผิดสัญญาจ้างที่ ก.ส. 19/2510 ลงวันที่ 28 เมษายน 2510 เต็มตามขอจำนวน 1,548,350 บาท ส่วนหนี้เงินค่าปรับตามสัญญาจ้างฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2497 ให้สิทธิได้รับชำระถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เป็นจำนวน 1,050,000 บาท ตามสัญญาจ้างที่ ก.ส. 19/2510 ลงวันที่ 28 เมษายน 2510 ให้สิทธิได้รับชำระถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เป็นจำนวน 1,000,000 บาท แต่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับชำระเงินค่างานจากเจ้าหนี้อยู่ 550,000 บาท จึงหักเงินจำนวนนี้ออกเจ้าหนี้ควรมีสิทธิได้รับชำระเพียง 450,000 บาท และสัญญาฉบับนี้มีธนาคารกรุงไทย จำกัด ทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้ในวงเงินจำนวน443,881.25 บาท จึงควรมีข้อแม้เป็นเงื่อนไขว่า ถ้าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันเพียงใดแล้ว ก็ให้สิทธิที่จะขอรับชำระหนี้ลดลงเพียงนั้นรวมเป็นจำนวนเงินที่เจ้าหนี้ควรได้รับชำระจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ 3,077,600 บาท โดยมีข้อแม้เป็นเงื่อนไขดังกล่าวนั้นด้วย คำขอนอกจากนั้นให้ยก

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้กรมทางหลวงเจ้าหนี้ได้รับชำระเงินจำนวน 3,077,600 บาทจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้โดยมีข้อแม้เป็นเงื่อนไขตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

กรมทางหลวงเจ้าหนี้อุทธรณ์ขอรับชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาจ้างเต็มจำนวนตามที่ขอ

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เงินค่าปรับเป็นรายวันไม่ใช่เงินดอกเบี้ยหรือเงินค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยซึ่งต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระได้ภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิขอรับชำระเงินค่าปรับเป็นรายวันได้จนถึงวันแจ้งบอกเลิกสัญญาจ้าง คิดค่าปรับเป็นรายวันให้ถึงวันที่ 9 เมษายน 2512 รวม 383 วัน รวมเป็นเงิน766,000 บาท เมื่อหักเงินจำนวน 550,000 บาท ค่างานที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับจากเจ้าหนี้ออก คงเหลืออยู่ 216,000 บาทที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กรมทางหลวงเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นจำนวนเงิน 3,059,600 บาท (ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้โดยมีข้อแม้เป็นเงื่อนไขไว้ตามประเด็นอุทธรณ์)

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าเหตุผิดสัญญาทำให้กรมทางหลวงเจ้าหนี้มีสิทธิได้รับการชำระเงินค่าปรับจากลูกหนี้จะมีมาก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ก็ตามแต่ตามสัญญาได้กำหนดให้ลูกหนี้ผู้ผิดสัญญาต้องเสียค่าปรับแก่เจ้าหนี้เป็นรายวันไปทุกวันที่ยังผิดสัญญาอยู่ มูลหนี้เงินค่าปรับจึงเกิดขึ้นเป็นรายวันไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94 ได้บัญญัติไว้ว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจขอรับชำระหนี้ได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์” ฉะนั้น มูลหนี้ค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาส่วนที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 4สิงหาคม 2512 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เพราะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันตามสัญญาฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2497 จนถึงวันหลังบอกเลิกสัญญาซึ่งเป็นวันที่หลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เจ้าหนี้ชอบที่จะได้รับชำระหนี้เงินค่าปรับเป็นรายวันได้เพียงวันที่ 4 สิงหาคม 2512 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ รวมเป็นเงิน 1,050,000 บาท

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กรมทางหลวงเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นจำนวนเงินตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ยกเว้นแต่หนี้เงินค่าปรับตามสัญญาที่ ก.ส. 19/2510 ลงวันที่ 28 เมษายน 2510 ให้ได้รับชำระเพียง 216,000 บาท และถ้าเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกันเพียงใดแล้วก็ให้สิทธิที่จะขอรับชำระลดลงเพียงนั้นค่าฤชาธรรมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share