คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1461/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์เบิกเงินค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐกรมธนารักษ์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บเงินที่มีผู้ชำระต่อราชพัสดุจังหวัดเท่านั้น จึงมิใช่เป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมาย คำสั่งจ้างจำเลยระบุเพียงว่าให้จ้างจำเลยเข้าเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ มิได้อ้างว่าแต่งตั้งจำเลยโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายใดฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุก็มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่
เงินที่จำเลยยักยอกไปเป็นเงินที่จำเลยเก็บจากผู้เช่าอาคารราชพัสดุแล้ว ยังมิได้ส่งต่อทางราชการ จำเลยมีหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาเงินนั้น และต้องส่งมอบให้แก่ทางราชการเงินที่จำเลยรับไว้จึงเป็นของราชการกรมธนารักษ์ไม่ใช่เป็นของประชาชนผู้ชำระค่าเช่าแต่ละราย เพราะกรมธนารักษ์ต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าให้ชำระอีกไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแลที่ราชพัสดุแทนกรมธนารักษ์จึงเป็นผู้เสียหาย
สารสำคัญตามฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไป เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไปจริงก็เป็นอันตรงกับคำฟ้องแล้ว ส่วนที่ตามฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานนั้น แม้ตามทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ก็ยังถือไม่ได้ว่าคดีได้ความตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง และไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือฟ้องไม่สมบูรณ์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ดำรงตำแหน่งพนักงานเก็บเงินสังกัดกรมธนารักษ์ มีหน้าที่จัดการเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าปรับและค่าเช่าอาคารราชพัสดุในเขตอำเภอเมืองสุพรรณบุรี จากผู้เช่าอาคารราชพัสดุแล้วส่งมอบให้แก่ทางราชการกรมธนารักษ์ทั้งนี้ทางราชการกรมธนารักษ์ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นผู้ครอบครองและดูแลที่ราชพัสดุในจังหวัด เมื่อจำเลยได้รับเงินจากผู้เช่าอาคารราชพัสดุดังกล่าวไว้วันใดมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินให้แก่ทางราชการในวันที่ได้รับเงินนั้น ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2518 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 จำเลยได้มีเจตนาทุจริตปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ได้บังอาจเบียดบังเงินค่าเช่ารวมทั้งสิ้น 23 จำนวน ต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นเหตุให้ทางราชการกรมธนารักษ์และผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีเสียหาย และจำเลยยังได้บังอาจปลอมใบเสร็จรับเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุ อันเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง โดยกรอกข้อความเพิ่มเติมลงในต้นขั้วใบเสร็จรับเงิน มีข้อความไม่ตรงกับปลายขั้วใบเสร็จรับเงินซึ่งมอบให้แก่ผู้เช่าไป โดยจำเลยได้กระทำดังกล่าวต่างกรรมต่างวาระกันรวม 12 ครั้ง ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 12มีนาคม 2518 ถึงวันที่ 28 มีนาคม 2520 เหตุเกิดที่ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 265, 268, 352, 353, 354, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 13 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 157, 264, 265, 266, 268, 352, 353, 354, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 (ไม่ใส่มาตราไว้) ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้จำคุกตามมาตรา 147 ซึ่งเป็นบทหนักกรรมละ 5 ปี รวม 23 กรรม เป็นโทษจำคุก 115 ปี กับจำคุกตามมาตรา 268 ซึ่งเป็นบทหนัก กรรมละ 1 ปี รวม 12 กรรม เป็นโทษจำคุก 12 ปี รวมโทษสองฐานทุกกรรมเป็นจำคุก 127 ปี จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 63 ปี 6 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามฟ้องแก่ผู้เสียหายด้วย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นเพียงลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ไม่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2 ให้ลงโทษจำคุกกรรมละ 6 เดือน รวม 23 กรรม เป็นโทษจำคุก 11 ปี 6 เดือน ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมโทษจำคุก 23 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 11 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ เบิกเงินค่าจ้างในงบงานจัดทรัพย์สินของรัฐ กรมธนารักษ์ โดยได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน มีตำแหน่งเป็นพนักงานเก็บเงินที่มีผู้ชำระต่อราชพัสดุจังหวัดเท่านั้น จึงมิใช่เป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามกฎหมาย คำสั่งจ้างจำเลยระบุเพียงว่าให้จ้างจำเลยเข้าเป็นลูกจ้างประจำสังกัดกรมธนารักษ์ มิได้อ้างว่าแต่งตั้งจำเลยโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายใด ฉะนั้น แม้จำเลยจะมีหน้าที่เก็บเงินค่าเช่าอาคารราชพัสดุก็มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง หาใช่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายไม่

สำหรับเงินที่จำเลยยักยอกไปเป็นเงินที่จำเลยเก็บจากผู้เช่าอาคารราชพัสดุแล้วยังมิได้ส่งต่อทางราชการ จำเลยมีหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาเงินนั้น และต้องส่งมอบให้แก่ทางราชการ เงินที่จำเลยรับไว้จึงเป็นของราชการกรมธนารักษ์ ไม่ใช่เป็นของประชาชนผู้ชำระค่าเช่าแต่ละราย เพราะกรมธนารักษ์ต้องรับผลในการกระทำของจำเลยในอันที่จะไปเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าให้ชำระอีกไม่ได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้ครอบครองและควบคุมดูแลที่ราชพัสดุแทนกรมธนารักษ์จึงเป็นผู้เสียหาย

สารสำคัญตามฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไป เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยยักยอกเอาเงินไปจริง ก็เป็นอันตรงกับคำฟ้องแล้ว ส่วนที่ตามฟ้องว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานนั้น แม้ตามทางพิจารณาจะไม่ได้ความว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานก็ยังถือไม่ได้ว่าคดีได้ความตามทางพิจารณาต่างกับฟ้อง และไม่ใช่เป็นเรื่องฟ้องเคลือบคลุมหรือฟ้องไม่สมบูรณ์

พิพากษายืน

Share