แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคารข้อ 35 ระบุเกี่ยวกับเรื่องชั้นลอยหรือพื้นระหว่างชั้นของอาคารว่า”…ต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้น ๆ…” อาคารของจำเลยมีพื้นที่ทั้งหมดของห้องที่มีชั้นลอย48 ตารางเมตร มีชั้นลอยพื้นที่ 16 ตารางเมตรอยู่แล้ว จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นลอยอีกเท่าหนึ่งรวมเป็นเนื้อที่ 32 ตารางเมตรเกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ. ควบคุมอาคารจึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมได้ จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนดมิใช่กระทำละเมิดต่อผู้ใด จะอ้างอายุความ 1 ปี ในเรื่องละเมิดมาใช้หาได้ไม่ ข้ออ้างว่าการรื้อถอนจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเจ้าของห้องข้างเคียง และการรื้อถอนโดยห้องข้างเคียงมิได้รื้อถอนส่วนที่ต่อเติมด้วยก็ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นข้อที่จะนำมาอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยดัดแปลงต่อเติมอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตโจทก์ได้มีคำสั่งให้จำเลยรื้อถอน แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามและมิได้อุทธรณ์คำสั่ง ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยรื้อถอนอาคาร
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องขาดอายุความ จำเลยมิได้ดัดแปลงต่อเติมอาคารตามวันเวลาที่กล่าวในฟ้อง การต่อเติมอาคารมิได้ฝ่าผืนข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ การต่อเติมอาคารด้านหลังและพื้นชั้นลอยฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร พิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่ต่อเติมถ้าจำเลยไม่ยอมรื้อให้โจทก์รื้อถอนได้เองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่า
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบคงฟังได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของอาคารตึกแถวสามชั้นเลขที่ 2007/107 ซึ่งมีความกว้าง 4 เมตร ลึก 12 เมตร มีชั้นลอยกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตรได้ก่อสร้างต่อเติมชั้นลอยภายในอาคารดังกล่าวเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กพื้นหินขัดขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร และต่อเติมด้านหลังอาคารก่อเป็นกำแพงมุงหลังคาคลุมที่ว่างหลังอาคารไปจดกำแพงรั้วด้านหลังโดยไม่ได้รับอนุญาต ทางการดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาต่อเติมดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาปรับจำเลย2,000 บาท ผู้ช่วยหัวหน้าเขตรักษาราชการแทนหัวหน้าเขตห้วยขวางปฏิบัติราชการแทนโจทก์ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารส่วนที่สร้างขัดข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยได้รับหนังสือนี้เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2524 แต่มิได้ปฏิบัติตามและมิได้อุทธรณ์คำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคคร เรื่องควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ. 2522 ข้อ 35 หมายความว่าพื้นที่ของห้องทั้งหมดในส่วนที่ต่อเติมไม่เกินร้อยละสี่สิบ จำเลยต่อเติมออกมาเพียงหนึ่งในสามของเนื้อที่อาคาร คิดคำนวณแล้วเพียงร้อยละ 33.33เท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อบัญญัติดังกล่าวระบุเกี่ยวกับเรื่องชั้นลอย หรือพื้นระหว่างชั้นของอาคารไว้ว่า “…ต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมดของห้องนั้น ๆ …” อาคารของจำเลยมีพื้นที่ทั้งหมดของห้องที่มีชั้นลอย 48 ตารางเมตร มีชั้นลอยพื้นที่ 16 ตารางเมตรอยู่แล้ว จำเลยก่อสร้างเพิ่มเติมชั้นลอยอีกเท่าหนึ่งรวมเป็นเนื้อที่ 32 ตารางเมตร จึงเกินร้อยละสี่สิบของพื้นที่ทั้งหมด และไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องตามข้อบัญญัติดังกล่าวได้ ข้ออ้างของจำเลยว่า การรื้อถอนจะมีผลกระทบกระเทือนต่อเจ้าของห้องข้างเคียง เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบเอง จะนำมาเป็นข้ออ้างไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นหาได้ไม่ ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวในฎีกาว่า การต่อเติมด้านหลังอาคารมิได้ทำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กดังที่โจทก์อ้างถ้าจำเลยรื้อถอนส่วนนี้โดยห้องข้างเคียงมิได้รื้อถอนส่วนที่ต่อเติมด้วยก็ไม่มีประโยชน์นั้นก็ไม่เป็นข้อที่จำเลยจะนำมาอ้างเพื่อไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นเช่นกัน
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า ผู้ที่ดำเนินคดีนี้ได้คือเทศบาลกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าพนักงานงานท้องถิ่นตามมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นละเมิด คดีขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่สั่งให้รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด มิใช่กระทำละเมิดต่อผู้ใด จะอ้างอายุความ 1 ปีในเรื่องละเมิดมาใช้ในคดีนี้หาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ดจำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์1,000 บาท”.