คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกค้าประจำรายวันทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ ดังนั้นที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทดลองปฏิบัติงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานรวม 2 ครั้งครั้งแรกมีกำหนด 120 วัน เมื่อผลกาหรทดลองปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยไม่เป็นที่พอใจของจำเลย จำเลยจึงออกคำสั่งครั้งที่ 2 ให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไปอีก 60 วัน แม้ว่าโจทก์จะยินยอมก็ตาม จะถือว่าจำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานในคราวเดียวกันรวมเป็นเวลา 180 วันหาได้ไม่เมื่อโจทก์ทดลองปฏิบัติงานครบ 120 วันแล้ว จำเลยก็มิได้เลิกจ้างโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้งไว้แต่แรก จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้ายในอันที่จำเลยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลยตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2528 ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2529 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า และไม่จ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ อันเป็นการเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างและให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามปกติและจ่ายค่าเสียหายตามระเบียบของโจทก์ หากจำเลยไม่รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามปกติ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2,500 บาท และค่าชดเชย 2,500บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตาม มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 ให้โจทก์ 300,000 บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ มีกำหนดระยะเวลา 120 วัน ระหว่างทดลองงาน โจทก์มักจะขับรถด้วยอารมณ์ร้อน ฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของจำเลยเสมอ เมื่อครบทดลองปฏิบัติงานต่อไปอีก 60 วัน จนใกล้ครบกำหนด ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ประเมินผลงานของโจทก์ใหม่เห็นว่า ควรเลิกจ้างโจทก์เพราะมาทำงานไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดขาดงาน มีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง มีปัญหากับเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ ไม่เหมาะสมที่จะได้รับการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างตามสัญญาทดลองการปฏิบัติงานที่มีระยะเวลารวมกันแล้วไม่เกิน 180 วัน จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ภายในระยะเวลานั้นจึงชอบแล้ว มิได้เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 2,050 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ‘ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทดลองปฏิบัติงานของจำเลย ตามประกาศกระทรวงกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 75 กำหนดให้ลูกจ้างชั่วคราวซึ่งทำงานติดต่อกันเกิน 120 วัน โดยรวมวันหยุด วันลาและวันที่นายจ้างสั่งให้หยุดงานเพื่อประโยชน์ของนายจ้าง มีสิทธิเช่นเดียวกับลูกจ้างประจำนับแต่วันทำงานครบ 120 วัน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ข้อ 46 (1) ดังนั้นการนับระยะเวลาของลูกจ้างชั่วคราวทดลองปฏิบัติงานที่จะมีสิทธิได้รับค่าชดเชยก็ต่อเมื่อหลังจากทดลองปฏิบัติงานครบ 120 วันแล้วต้องทำงานต่อไปอีก 120 วัน รวมเป็น 240 วัน จึงจะมีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่โจทก์ทดลองปฏิบัติงานยังไม่ครบเนื่องจากจำเลยเลิกจ้างเสียก่อนนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำรายวันของจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การรับว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ และศาลแรงงานกลางก็ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำรายวันทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานขับรถ ดังนั้นที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวทดลองปฏิบัติงาน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลแรงงานกลางต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า หลังจากโจทก์ทดลองปฏิบัติงานครบ 120วันตามคำสั่งครั้งแรกของจำเลยแล้ว ผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจของจำเลย จำเลยจึงออกคำสั่งครั้งที่ 2 ให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานต่อไปอีก 60 วัน ตามเงื่อนไขในคำสั่งของจำเลยเอกสารหมาย ล.11 เท่ากับโจทก์ยินยอมให้จำเลยสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานรวมเป็นเวลา 180 วัน ตั้งแต่แรกแล้ว จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบ 180 วันการเลิกจ้างโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้าย ที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานรวม 2 ครั้ง ครั้งแรกมีกำหนด 120 วัน เมื่อผลการทดลองปฏิบัติงานตามคำสั่งของจำเลยในครั้งแรกไม่เป็นที่พอใจของจำเลย จำเลยจึงออกคำสั่งครั้งที่ 2 ให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานต่อไปอีก 60 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาทดลองปฏิบัติงานครั้งแรก แม้ว่าโจทก์จะยินยอมก็ตามจะถือว่าจำเลยออกคำสั่งให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานในคราวเดียวกันรวมเป็นเวลา 180 วัน หาได้ไม่เมื่อโจทก์ทดลองปฏิบัติงานครบ 120 วันตามคำสั่งครั้งแรกของจำเลยแล้ว ผลของการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจของจำเลย จำเลยก็มิได้เลิกจ้างโจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาที่แจ้งไว้แต่แรก จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคท้าย ในอันที่จำเลยจะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share