คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1206/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงแห่งข้อหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำโขง เนื้อที่150 ตารางวา ทำให้โจทก์เสียหาย โดยมีแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยบุกรุกแนบมาท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วยและมีคำขอบังคับขอให้ขับไล่และให้ใช้ค่าเสียหาย ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักข้อหาชัดเจนชอบด้วย ป.ว.พ. มาตรา 172 แล้ว จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์เป็นวัดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้บางครั้งจะไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ในวัดโดยมีลักษณะเป็นวัดร้าง แต่เมื่อไม่มีการยุบเลิกวัด จึงต้องถือว่ายังคงมีฐานะเป็นวัดอยู่
ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เป็นที่ลาดลงไปสู่แม่น้ำถูกน้ำท่วมถึงเป็นบางฤดูกาล เพราะที่ดินส่วนนี้ถูกน้ำเซาะพังเป็นที่ลาดต่ำลงไป เมื่อไม่ปรากฏว่ามีประชาชนเข้าใช้ที่ส่วนนี้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ที่ส่วนนี้ก็ยังเป็นที่ดินของโจทก์ หากลายเป็นทางน้ำหรือที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าอาวาสวัดสมประศักดิ์ ซึ่งเป็นวัดมีทะเบียนและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา จำเลยได้บุกรุกที่ดินของวัดทางด้านทิศเหนือ ซึ่งติดริมแม่น้ำโขง เนื้อที่ 150 ตารางวา ปลูกบ้าน 2 หลังและปลูกยาสูบปรากฏตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า วัดสมปะศักดิ์เดิมเป็นวัดร้าง ไม่มีหลักฐานการตั้งวัดใดๆ การตั้งวัดไม่ชอบด้วยกฎกระทรวงและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เมื่อการตั้งวัดไม่ชอบการตั้งเจ้าอาวาสจึงไม่ชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคม กฎกระทรวงและพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ได้บุกรุกที่ดินของวัด ที่ดินตามฟ้องเป็นของจำเลยซึ่งได้เข้ายึดถือครอบครองเป็นเจ้าของมาโดยความสงบเปิดเผยติดต่อกันมาหลายสิบปี ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายให้ชัดว่าที่ดินของโจทก์มีเนื้อที่เท่าใดมีอาณาเขตติดต่อกับอะไรกว้างยาวเท่าใด ทำให้จำเลยต่อสู้ไม่ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องไม่สมบูรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่วัดสมปะศักดิ์ส่วนที่อยู่บนตลิ่งแม่น้ำโขงในกรอบเส้นสีน้ำตาลในแผนที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 120 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ว่า ที่ดินส่วนที่ลาดลงไปสู่แม่น้ำโขงเป็นของโจทก์และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายสำหรับที่ดินส่วนนี้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ในกรอบเส้นสีน้ำเงินตั้งแต่ส่วนที่ลาดลงไปสู่แม่น้ำโขงในแผนที่พิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะออกไปจากที่พิพาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ฎีกาข้อ 1. ในปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นเห็นว่าการที่ฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงแห่งข้อหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์ทางด้านโจทก์เสียหาย โดยมีแผนที่สังเขปแสดงแนวเขตที่ดินของโจทก์ส่วนที่จำเลยบุกรุกแนบมาท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วยและมีคำขอบังคับขอให้ขับไล่และให้ใช้ค่าเสียหายกับที่จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินตามฟ้องไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยเป็นเจ้าของยึดถือครอบครองมาหลายสิบปีนั้นเป็นการแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักข้อหาชัดเจนชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172แล้ว ไม่เคลือบคลุม
ฎีกาข้อ 2. ในปัญหาเรื่องโจทก์เป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ นั้น เห็นว่า จำเลยปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ขึ้นลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนหักล้างความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารที่โจทก์อ้างอิงเป็นพยานหลักฐานซึ่งโจทก์นำสืบว่า วัดโจทก์มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนวัดเอกสารหมายจ.1 ซึ่งเป็นเอกสารที่มีความเก่าแก่มากเก็บรักษาไว้ที่แผนกศึกษาธิการอำเภอเมืองหนองคายกับใบสำเนาทะเบียนวัดทั่วราชอาณาจักร ในเขตจังหวัดหนองคาย ตามเอกสารหมาย จ.8 ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่กองพุทธศาสนสถาน กรมศาสนา และสำเนาแบบสำรวจทะเบียนวัดทั่วราชอาณาจักร อำเภอเมืองหนองคาย ตามเอกสารหมาย จ.13 ซึ่งเอกสารดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องได้ทำขึ้นมีข้อความชัดเจนว่าประกาศตั้งวัดโจทก์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์2460 ที่ดินที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน จากพยานหลักฐานดังกล่าวเห็นว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักหลักฐานหนักแน่นมั่นคงข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นวัดที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งแม้บางครั้งจะไม่มีพระภิกษุจำพรรษาอยู่ในวัดโดยมีลักษณะเป็นวัดร้าง แต่ก็มิได้มีการยุบเลิกวัดจึงต้องถือว่ายังคงมีฐานะเป็นวัดอยู่เมื่อปัจจุบันพระภิกษุทองสูญ สิริจันโท จำพรรษาอยู่ที่วัดโจทก์และได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดหนองคายตามสำเนาตราตั้งเจ้าอาวาสเอกสารหมาย จ.2 ให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ พระภิกษุทองสูญ สิริจันโท จึงมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนวัดโจทก์ได้ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาด้วยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เคยแจ้งให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าครอบครองที่พิพาทของโจทก์ ขอให้ขับไล่ซึ่งนอกจากโจทก์นำสืบว่า ได้แจ้งให้จำเลยออกไปจากที่พิพาทก่อนฟ้องแล้ว มูลเหตุตามฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยเข้ามาอยู่ในที่พิพาทโดยพลการเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองของโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อนฟ้อง
ฎีกาข้อ 3. ในปัญหาเรื่องจำเลยบุกรุกที่ดินของโจทก์เพียงใดหรือไม่…ศาลฎีกาเห็นว่า วัดโจทก์ประกาศตั้งเมื่อ พ.ศ. 2460ระบุว่าที่ดินของวัดโจทก์มีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน ด้านทิศเหนือจดแม่น้ำโขง และข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า อาณาเขตของวัดโจทก์อีก 3 ด้าน ที่จดที่ดินของผู้อื่นตามทางนำสืบของโจทก์จำเลยถูกต้อง และที่ดินภายในเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทซึ่งระบุว่าทิศเหนือจดแม่น้ำโขงมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่2 งาน 60 ตารางวา ซึ่งมีจำนวนเนื้อที่ใกล้เคียงกับตอนประกาศตั้งวัดโจทก์ กับที่ดินที่แสดงไว้ในแผนที่พิพาทที่โจทก์นำชี้อ้างว่า จำเลยบุกรุกครอบครองใช้ทำประโยชน์เป็นที่ปลูกยาสูบและที่ปลูกบ้าน 2 หลัง เนื้อที่ประมาณ 2 งาน 72 ตารางวา ก็เป็นที่ดินที่อยู่ภายในเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทด้วย เมื่อหักจำนวนที่ดินที่จำเลยครอบครองดังกล่าวออกจากที่ดินของวัดโจทก์แล้ว ที่ดินของวัดโจทก์ย่อมขาดหายไปหรือไม่ครบจำนวนตามที่ได้ระบุไว้เมื่อครั้งประกาศตั้งวัดโจทก์ ประกอบกับคดีได้ความจากนายชัยพร สถิรคุปต์ พยานจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหนองคายว่า ที่ดินที่ลาดในส่วนที่จำเลยครอบครองเป็นที่งอกชายฝั่งแม่น้ำโขง หากในทะเบียนวัดระบุว่าอาณาเขตของวัดด้านทิศเหนือจดแม่น้ำโขงก็แสดงว่าที่ดินของวัดทางด้านทิศเหนือติดแม่น้ำโขง ตามข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยคำนึงถึงจำนวนเนื้อที่ดินตั้งวัดโจทก์ซึ่งระบุไว้แต่ครั้งเมื่อประกาศตั้งวัดด้วยแล้ว คดีมีเหตุผลน่าเชื่อว่าอาณาเขตที่ดินของวัดโจทก์ด้านทิศเหนือตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งระบุว่า จดแม่น้ำโขง นั้นมีอาณาเขตเลยไปถึงบริเวณแถบที่ต่ำกว่าตลิ่งทั้งหมดที่ลาดไปสู่แม่น้ำโขงหรือภายในเส้นสีแดงตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาท เพราะหากจดเพียงแค่ถนนหน้าบ้านตามข้อต่อสู้ของจำเลยจำนวนเนื้อที่ดินของวัดโจทก์ย่อมขาดหายไปเห็นได้ชัด และเห็นว่า แม้ที่ดินของโจทก์ส่วนที่เป็นที่ลาดลงไปสู่แม่น้ำโขงจะถูกน้ำท่วมถึงเป็นบางฤดูกาล ก็เพราะที่ดินส่วนนี้ถูกน้ำเซาะพังเป็นที่ลาดต่ำลงไป เมื่อไม่ปรากฏว่ามีประชาชนเข้าใช้ที่ส่วนนี้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ที่ส่วนนี้ก็ยังเป็นที่ดินของโจทก์ หากลายเป็นทางน้ำหรือที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินภายในเส้นสีแดงตามที่ปรากฏในแผนที่พิพาทโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยจำเลยจึงต้องออกไปจากที่ดินที่ครอบครอง’
พิพากษายืน.

Share