คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 281/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมาทำงานสายและประพฤติไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชาแต่ไม่มีในข้อบังคับว่าเป็นกรณีฝ่าฝืนระเบียบร้ายแรงที่จะให้ออกโดยไม่ต้องตักเตือนก่อน นายจ้างต้องใช้ค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าชดเชยแก่โจทก์ 7,800 บาท จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อ 7 ของจำเลยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย กระทำผิดต่อระเบียบข้อบังคับการทำงานโดยโจทก์มาทำงานสายเกินเวลาเข้าทำงาน และประพฤติการอันไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชานั้น เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง ซึ่งจำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องมีคำตักเตือนเป็นหนังสือก่อน ตามความในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 1 เมษายน 2515 ข้อ 47(3) หรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยกล่าวอ้างในอุทธรณ์ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 71, 75 และ 76 โดยอนุโลมมาใช้แก่ระเบียบการทำงานของจำเลยนั้น เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยได้มีระเบียบว่าด้วยเจ้าหน้าที่และลูกจ้างทั้งระเบียบว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2518 ใช้บังคับแก่ลูกจ้างของจำเลยโดยตรง ซึ่งในระเบียบทั้งสองนี้มิได้มีข้อใดให้นำบทบัญญัติเกี่ยวด้วยวินัยและการลงโทษในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาอนุโลมใช้ดังจำเลยอ้าง ฉะนั้นการกระทำของโจทก์ข้างต้นจะเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากระเบียบว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้าง ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2518 ของจำเลยเป็นสำคัญตามระเบียบดังกล่าวนั้นได้กำหนดโทษฐานทำผิดต่อวินัยไว้ในข้อ 4 ว่ามี 5 สถานคือ (1) ไล่ออก (2) ให้ออก (3) ลดขั้นเงินเดือน (4) ตัดเงินเดือน และ (5) ภาคทัณฑ์สำหรับโทษไล่ออกนั้น ใช้ในกรณีการทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงดังที่ระบุไว้ในข้อ 5 ซึ่งการมาทำงานสายและการประพฤติไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชาไม่ต้องด้วยกรณีใดที่จำแนกไว้ว่าเป็นการผิดวินัยที่ร้ายแรง ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตามระเบียบว่าด้วยวินัย การสอบสวนและการลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่และลูกจ้างฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2518 ข้อ 6 อันมีความระบุชัดแจ้งว่า “ข้อ 6. การลงโทษให้ออกนั้น ให้กระทำในกรณีที่เจ้าหน้าที่สหกรณ์หรือลูกจ้างกระทำผิดวินัยเป็นเหตุให้เสียหายแก่สหกรณ์ แต่ไม่ถึงขั้นร้ายแรง” ดังนี้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีว่าการที่โจทก์มาทำงานสายและกระทำการอันไม่สมควรต่อผู้บังคับบัญชา ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานหรือคำสั่งของนายจ้างที่ร้ายแรง และไม่เป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนตามความในข้อ 47(3) ของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2518 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”

พิพากษายืน

Share