คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6664/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องทำหนังสือประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อค้ำประกันการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยฎีกา ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางส่วน และยังคงให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงยังต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามหนังสือประกันดังกล่าวจะสิ้นไปต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือประกันขึ้นใหม่ หรือเมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและไม่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ร้องภายใน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271
ผู้ร้องขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินที่นำมาวางเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ร้องไปทั้งที่ผู้ร้องยังคงต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันอยู่ ซึ่งต่อมาภายหลังเมื่อเห็นว่าเป็นการมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์ จำเลยกับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นการสั่งตามอำนาจที่ศาลชั้นต้นมีอยู่ตามมาตราดังกล่าวหาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อในสภาพใช้การได้ดีคืนโจทก์ ถ้าไม่ส่งคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคา 256,690 บาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 26,400 บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 3,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาแทน ทั้งนี้ไม่เกิน 6 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าถ้าจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือคนหนึ่งคนใดหาประกันสำหรับจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำนวน 283,090 บาท กับค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันทราบคำสั่งนี้และต่อไปอีก 2 ปี มาวางศาลจนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ในระหว่างอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ยกคำร้องผู้ร้องได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 17973 ตำบลบ้านกุ่ม (คลองกระแซง) อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ 1 งาน 46 ตารางวา มาวางเป็นหลักประกัน ฝ่ายโจทก์ไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงรับไว้เป็นหลักประกันและอนุญาตให้ทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ไว้ตามคำสั่งศาลอุทธรณ์โดยยึดโฉนดที่ดิน แจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดินจังหวัดเพชรบุรีและให้ผู้ร้องทำหนังสือประกัน ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน26,400 บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 3,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์หรือใช้ราคาแทน ทั้งนี้ไม่เกิน 6 เดือนนอกจากที่แก้ให้บังคับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกาและยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับ ศาลฎีกามีคำสั่งในคำร้องขอทุเลาการบังคับว่า ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งคำร้องนี้ และต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 18,356 บาท และชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีกต่อไปเดือนละ 2,294.50 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ หลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับโฉนดที่ดินซึ่งได้วางเป็นหลักประกันในการทุเลาการบังคับในชั้นอุทธรณ์คืนโดยอ้างว่าผู้ร้องไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดแทนจำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง

ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้รับโฉนดที่ดินคืนไปจากศาลแล้ว แต่ศาลยังมิได้แจ้งถอนการอายัดที่ดินดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งแจ้งถอนการอายัดที่ดิน

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับการชำระหนี้จากจำเลยทั้งสอง การวางหลักทรัพย์ค้ำประกันการทุเลาการบังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นของผู้ร้องย่อมต้องมีภาระผูกพันเป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสอง เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งโจทก์สามารถบังคับเอาแก่หลักประกันดังกล่าวได้ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้ร้องฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่ผู้ร้องฎีกาว่า หนังสือประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นเพื่อค้ำประกันการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ย่อมมีผลบังคับใช้เฉพาะในชั้นอุทธรณ์นั้น ปรากฏตามเนื้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันที่ผู้ร้องทำไว้ต่อศาลชั้นต้นว่า ข้าพเจ้าขอเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในศาลเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนจำเลยทั้งสองในศาลชั้นต้นจนครบถ้วนเมื่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้แพ้คดีและจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนหากข้าพเจ้าไม่ชำระหนี้แทน ขอให้ศาลบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่ข้าพเจ้านำมาวางไว้เป็นหลักประกันได้ทันที ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นบางส่วนโดยยังคงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ และจำเลยทั้งสองฎีกา ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีกบางส่วน และยังคงให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เช่นนี้ ผู้ร้องจึงยังต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ร้องตามหนังสือประกันฉบับนี้จะสิ้นไปก็ต่อเมื่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ หรือในระหว่างฎีกาได้มีการทำหนังสือประกันขึ้นใหม่ หรือเมื่อโจทก์มิได้ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและไม่แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยและผู้ร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271ฎีกาของผู้ร้องในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อมและสอบถามโจทก์กับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการอายัดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางไว้เป็นหลักประกันทั้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องแล้วจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำนั้น เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าการคืนโฉนดที่ดินที่ผู้ร้องนำมาวางเป็นหลักประกันให้แก่ผู้ร้องไปทั้งที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้วางหลักประกันยังต้องรับผิดตามเนื้อความในหนังสือประกันอยู่ เป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 27 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมและสอบถามโจทก์จำเลยทั้งสองกับผู้ร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้น จึงเป็นการสั่งตามอำนาจที่ศาลชั้นต้นมีอยู่ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว หาใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองให้ยกคำร้องของผู้ร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share