คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6255/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการและให้จำเลยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการแต่แผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จำเลยต้องปิดกิจการโดยถาวรคณะกรรมการดังกล่าวจึงดำเนินการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท กรณีจึงเข้าเงื่อนไขที่โจทก์สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดตามข้อกำหนดในหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯข้อ 1.6.2 แม้สิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะได้ระบุถึงกรณีที่มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัทว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้จะพึงได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว ก็มิได้หมายความว่าสิทธิของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ของหุ้นกู้ที่จะพึงได้รับชำระหนี้ยังไม่เกิดมีขึ้นจนกว่าเจ้าหนี้สามัญจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น เมื่อจำเลยปิดกิจการและมีการชำระบัญชี ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามหุ้นกู้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 99,810,976.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.375 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 93,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วมีปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากจำเลยหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามหนังสือข้อสนเทศเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ชนิดระบุชื่อผู้ถือของจำเลย ตามเอกสารหมาย จ.44 ข้อ 1.6 เรื่องการไถ่ถอนก่อนกำหนด มีข้อกำหนดว่า หุ้นกู้ที่เสนอขายไม่สามารถไถ่ถอนได้ก่อนครบกำหนดยกเว้นเมื่อเกิดกรณีใดกรณีหนึ่งดังนี้ 1.6.1 บริษัทถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลาย หรือ 1.6.2 มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ากระทรวงการคลังมีคำสั่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 ให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการและให้จำเลยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ต่อมาแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน จำเลยจึงต้องปิดกิจการโดยถาวร และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินจึงดำเนินการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท กรณีดังกล่าวจึงเข้าเงื่อนไขที่โจทก์สามารถไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดตามข้อ 1.6.2 โดยเรียกร้องให้จำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยของหุ้นกู้แก่โจทก์ได้ แม้สิทธิและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเอกสารหมาย จ.44 ข้อ 1.2.3 จะระบุว่าในกรณีที่มีการชำระบัญชีเพื่อเลิกบริษัท ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับส่วนแบ่งเพื่อการชำระต้นเงินและหรือดอกเบี้ยตามหุ้นกู้รวมทั้งค่าเสียหายอย่างใด ๆ จากกองทรัพย์สินของบริษัทได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญของบริษัททั้งหมดได้รับชำระหนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว และในกรณีเช่นนั้นจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นพึงจะได้รับจะจำกัดเพียงเท่าทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของบริษัท และหากทรัพย์สินของบริษัทที่เหลือจากการชำระหนี้ดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามหุ้นกู้นี้รวมทั้งค่าเสียหายอย่างใด ๆ ได้ทั้งจำนวน ให้ถือว่าหนี้สินที่ไม่ได้รับชำระนั้นเป็นอันระงับไป โดยผู้ถือหุ้นกู้แต่ละรายและทุกรายได้ตกลงปลดหนี้ที่ไม่ได้รับชำระตามหุ้นกู้นั้นให้บริษัทแล้วก็ตามกรณีดังกล่าวเป็นเพียงลำดับชั้นของเจ้าหนี้ที่มีเงื่อนไขว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้จะพึงได้รับชำระหนี้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้จนเสร็จสิ้นแล้ว แต่มิได้หมายความว่าสิทธิของเจ้าหนี้ในมูลหนี้ของหุ้นกู้ที่จะพึงได้รับชำระหนี้ยังไม่เกิดมีขึ้นจนกว่าเจ้าหนี้สามัญจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วเท่านั้นมิฉะนั้นจะกลายเป็นเงื่อนไขว่าเจ้าหนี้หุ้นกู้จะฟ้องร้องบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต้องรอให้เจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้เสียก่อน สิทธิของเจ้าหนี้แต่ละรายจะได้รับชำระหนี้ก่อนหลังกันอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นขอรับชำระหนี้ชั้นบังคับคดีศาลไม่อาจปฏิเสธถึงความมีอยู่แห่งสิทธิในการฟ้องร้องของเจ้าหนี้หุ้นกู้ในกรณีนี้ได้ ดังนั้นเมื่อจำเลยปิดกิจการและมีการชำระบัญชี ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยตามหุ้นกู้แก่โจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมซื้อหุ้นกู้จากจำเลยในนามของกองทุนรวม 18 กองทุนจำนวน 93,000 หน่วย เป็นเงิน 93,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 11.375 ต่อปีชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และวันที่ 2 สิงหาคม ของทุกปี จำเลยผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่งวดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 ดอกเบี้ยคงค้างในวันดังกล่าวเป็นเงิน 5,332,849.32 บาท กับดอกเบี้ยอัตราเดียวกันของต้นเงินจำนวน 93,000,000บาท นับแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,478,126.71 บาท รวมเป็นเงิน 99,810,976.03 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 11.375 ต่อปี ตามที่ตกลงกันไว้ จากต้นเงินจำนวน93,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 99,810,976.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.375 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 93,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share