คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2397/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ในราชการกองทัพบกอันเป็น ทรัพย์สินของแผ่นดินตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อ ประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304(3) แม้ ส. จะได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สำหรับที่ดินแปลงนี้มาโดยสุจริตและจำเลยจะซื้อที่ดินแปลงนี้มาโดยสุจริตก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขุดหรือ ตัก ดินไปจากที่ดินแปลงนี้ เมื่อจำเลยขุดหรือตัก ดินไป โจทก์ ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยนำดินที่ขุดหรือตักไปนั้นคืนมาหรือขอให้ จำเลยชดใช้ราคาได้ แม้จำเลยจะได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ โจทก์มิได้ยกปัญหาในเรื่องอายุความขึ้นอุทธรณ์ และจำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ของโจทก์ จึงถือว่าไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้ด้วยก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ต้องถือว่า เป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน ที่ ปจ.853 เมื่อเดือนมิถุนายน 2527 จำเลยได้ขุดดินของโจทก์ดังกล่าวไปเป็นจำนวน 7,384 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 369,200บาท โดยจำเลยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ขอศาลบังคับให้จำเลยคืนดินที่จำเลยขุดตักไปจำนวน 7,384 ลูกบาศก์เมตรให้แก่โจทก์โดยนำดินจำนวนดังกล่าวมาถมในที่ดินของโจทก์ที่จำเลยขุดตักไปให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หากไม่สามารถคืนได้ ก็ให้นำดินที่อื่นมาถมแทนในที่ดินที่จำเลยขุดตักให้กลับคืนสู่สภาพเดิม หรือมิฉะนั้นให้จำเลยชดใช้ราคาดินพร้อมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อทำให้พื้นดินที่จำเลยขุดตักไปกลับคืนสู่สภาพเดิมเป็นเงิน 369,200 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นางสร้อย บุญลม้าย ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) และครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยรับโอนมาจากนางสร้อย โดยสุจริตและมีค่าตอบแทนและครอบครองต่อมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยย่อมมีสิทธิขุดตักดินในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่จำเลยครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดินที่ขุดตักไปไม่ถึงจำนวนตามฟ้องราคาที่โจทก์กล่าวอ้างก็เลื่อนลอย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์รู้ว่าจำเลยขุดตักดินตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2527 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินมีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงซึ่งกระทรวงกลาโหมใช้ในราชการกองทัพบก ต่อมาเมื่อปี2518 เปลี่ยนสภาพมาเป็นที่ราชพัสดุ โดยมีโจทก์เป็นเจ้าของตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 และใช้ในราชการของกองทัพบก แต่เมื่อปี2505 เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ทับที่ดินแปลงนี้บางส่วนให้แก่นางสร้อย บุญลม้าย และเมื่อปี 2513จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ดังกล่าวมาจากนางสร้อยโดยสุจริต เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2527 จำเลยได้ขุดดินในที่ดินพิพาทไปจำนวนหนึ่งและถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญา แต่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ต่อมาเมื่อวันที่ 3พฤษภาคม 2528 ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรีได้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ฉบับนี้แล้ว คดีมีปัญหาขึ้นสู่ศาลฎีกาประการแรกว่าที่ศาลอุทธรณ์ยกเรื่องอายุความขึ้นวินิจฉัยเป็นมูลยกฟ้องโจทก์นั้นชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ โจทก์มิได้ยกปัญหาในเรื่องอายุความขึ้นอุทธรณ์และจำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ของโจทก์ จึงถือว่าไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความมาด้วย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ต้องถือว่าปัญหาเรื่องอายุความเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่า กรณีตามฟ้องของโจทก์ต้องบังคับใช้อายุความในเรื่องละเมิดหรืออายุความในเรื่องการฟ้องเพื่อติดตามเอาทรัพย์คืนมาจากผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใดนั้นศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เนื่องจากข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้แล้วตามข้อเท็จจริง รับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ในราชการกองทัพบก อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) แม้นางสร้อย บุญลม้ายจะได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ตามเอกสารหมาย ล.1สำหรับที่ดินแปลงนี้มาโดยสุจริต และจำเลยได้ซื้อที่ดินแปลงนี้มาโดยสุจริตก็ตาม จำเลยก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะขุดหรือตักดินไปจากที่ดินแปลงนี้ เมื่อจำเลยขุดหรือตักดินไป โจทก์ย่อมฟ้องบังคับให้จำเลยนำดินที่ขุดหรือตักไปนั้นคืนมาหรือขอให้จำเลยชดใช้ราคาได้ โจทก์นำสืบร้อยโทฉันทะโยคะสิงห์ นายทหารที่ดินมณฑลทหารบกที่ 2 จ่าสิบเอกสมุทร อรัญยะจ่าสิบโทสิทธิชัย สมเชื้อ เจ้าหน้าที่ที่ดินมณฑลทหารบกที่ 2 กับนายน้อย เจนไกรวิทย์ราชพัสดุจังหวัดปราจีนบุรีได้ความสอดคล้องต้องกันว่า ผลการตรวจสอบปรากฏว่าเนื้อที่ที่จำเลยขุดดินเป็นจำนวน2 ไร่ 1 งาน 22 9/10 ตารางวาคิดเป็นปริมาตรดินจำนวน 7,384 ลูกบาศก์เมตร ตามบัญชีรายละเอียด การคิดราคาดินและแบบคำนวณเนื้อที่เอกสารหมาย จ.4 และ จ.17 ราคาลูกบาศก์เมตรละ 50 บาท ตามราคาจากการพิจารณาของฝ่ายทหาร เอกสารหมาย จ.3 ข้อ 3 และ 6 เป็นเงิน 369,200 บาทฝ่ายจำเลยคงมีตัวจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงปากเดียวว่า จำเลยขุดดินในที่ดินพิพาทเพื่อจะทำบ่อเลี้ยงปลาประมาณ 500 คันรถ รถแต่ละคันจะบรรทุกดินได้ประมาณ 4 ลูกบาศก์เมตร ราคาดินถ้าซื้อขายกันถึงที่ราคาคันรถละไม่เกิน 80 บาท ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนข้อนำสืบของจำเลยจึงมีน้ำหนักน้อย ฟังหักล้างข้อนำสืบของโจทก์ซึ่งได้ให้รายละเอียดและหลักการคำนวณประกอบด้วยเหตุผลไม่ได้ จึงต้องฟังว่าจำเลยขุดตักดินไปจากที่ดินพิพาทจำนวน 7,384 ลูกบาศก์เมตร ราคาลูกบาศก์เมตรละ 50 บาท รวมเป็นเงิน 369,200 บาท ตามฟ้องของโจทก์จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนดินที่จำเลยขุดตักไปจำนวน 7,384ลูกบาศก์เมตรแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนดินดังกล่าวก็ให้จำเลยใช้ราคาดินแก่โจทก์เป็นเงิน 369,200 บาท.

Share