คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1095/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างระบุว่า หากผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้างก่อนสิ้นอายุของสัญญา โดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่จะมอบหุ้นให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวนหนึ่งภายใน 60 วัน นับแต่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากความเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง ข้อความดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงินให้ผู้รับจ้างหากเลิกจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยผู้รับจ้างไม่มีความผิด และหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ในกรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระหนี้ หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร อันเป็นเบี้ยปรับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควร ตามมาตรา 383 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 65,758,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดและขาดนัดพิจารณา
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 ตำแหน่งผู้บริหารระดับอาวุโส จำเลยทั้งสองมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้กระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวหน้าให้โจทก์ ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 60,000,000 บาท กรณีที่ไม่สามารถโอนหุ้นได้ตามสัญญานั้น ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 5 ระบุว่า “หากผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้างก่อนสิ้นอายุสัญญานี้ โดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 2 เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินเดือนผู้รับจ้างเป็นเงิน 60,000,000 บาท ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากความเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง” เป็นการกำหนดค่าเสียหายกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนหุ้นให้แก่โจทก์และเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาไว้ ค่าเสียหายดังกล่าวถือเป็นเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เป็นเงิน 750,000 บาท พิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,508,900 บาท โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 มีนาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 2 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างจะมอบหุ้นของผู้ว่าจ้างหรือหุ้นของบริษัทในเครือวัฏจักรให้แก่ผู้รับจ้างเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท ภายในปีที่สองของสัญญานี้” และข้อ 5 ระบุว่า “หากผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากการเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้างก่อนสิ้นอายุของสัญญานี้ โดยผู้รับจ้างไม่ได้กระทำความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในข้อ 2 เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ผู้ว่าจ้างจะจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงิน 60,000,000 บาท ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างพ้นจากความเป็นพนักงานของผู้ว่าจ้าง” ในข้อนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองจ้างโจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 และเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2540 โดยที่โจทก์ไม่มีความผิด และจำเลยทั้งสองไม่สามารถโอนหุ้นตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 2 มูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ได้ เช่นนี้ การที่โจทก์ทำงานในปีที่สองแต่ยังไม่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน ที่กำหนดไว้ในข้อ 4 ให้มีกำหนดเวลา 6 ปี แล้วจำเลยทั้งสองได้เลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำผิด และจำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 2 โดยมอบหุ้นของผู้ว่าจ้างหรือหุ้นของบริษัทในเครือวัฏจักรให้แก่โจทก์ผู้รับจ้างเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000,000 บาท ภายในปีที่สองให้แก่โจทก์ ถือว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาจ้างในข้อ 5 แล้ว แต่ตามสัญญาจ้าง ข้อ 5 ที่กำหนดให้ผู้ว่าจ้างจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างเป็นเงินจำนวน 60,000,000 บาท นั้น ข้อความในสัญญาดังกล่าวเป็นการตกลงจะชำระเงิน 60,000,000 บาท ให้ผู้รับจ้างหากผู้ว่าจ้างเลิกจ้างผู้รับจ้างก่อนครบกำหนดตามสัญญาโดยผู้รับจ้างไม่มีความผิดและหรือผู้ว่าจ้างยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาในข้อ 2 จึงมีลักษณะเป็นการทำสัญญากำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีผู้ว่าจ้างไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอันเป็นเบี้ยปรับตามมาตรา 379 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ตามที่เห็นสมควรตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนการใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงมากน้อยเพียงใดนั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีจึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์พังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share