คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 15 บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจที่จะยับยั้งการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่เห็นว่าเป็นการขัดต่อนโยบายหรือมติของรัฐมนตรีได้ด้วย ส่วนพนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 เรื่องจรรยาบรรณของกรรมการรัฐวิสาหกิจ ข้อ 4 กำหนดให้กรรมการต้องไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่กระทำกับรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ข้ออ้างในการย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยไม่เป็นเหตุนอกเหนือไปจากเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และไม่เป็นการขัดต่อ พ.ร.บ. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 12 ที่ 13 ถึงที่ 19 ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างให้โจทก์กลับคืนสู่สภาพการจ้างเดิม คดีนี้โจทก์เคยยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง แต่เป็นอำนาจของศาลแรงงานกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 เรียกโดยย่อว่า “ททท.” อยู่ในกำกับควบคุมของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย มีคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำหน้าที่วางนโยบายและควบคุมดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 คณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีอำนาจแต่งตั้งผู้ว่าการและให้ผู้ว่าการพ้นจากตำแหน่งได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2522 เป็นพนักงานวางแผนระดับ 5 ได้รับการปรับเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเรื่อยมาจนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2542 ปลายปี 2522 ได้มีสื่อหนังสือพิมพ์ลงข้อความกล่าววิจารณ์ถึงการบริหารงานของจำเลยที่ 1 ในทำนองว่าขาดความโปร่งใสเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่ผู้ว่าการมีส่วนได้เสีย จำเลยที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งได้ทำการสอบสวนแล้วรายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2544 ต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2545 จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนพร้อมทั้งมีคำสั่งให้โจทก์พักการปฏิบัติงานในหน้าที่ผู้ว่าการชั่วคราวในระหว่างสอบสวน คณะอนุกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องทั้งพนักงานของจำเลยที่ 1 และบุคคลภายนอก ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้โจทก์ทราบ ได้ให้โอกาสโจทก์ชี้แจงข้อกล่าวหาแล้ว คณะอนุกรรมการมีความเห็นว่า โจทก์ไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 ที่ให้กำหนดจรรยาบรรณของกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรีที่ออกเพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นผู้ว่าการเป็นผู้บริหารสูงสุดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง แต่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทที่เป็นคู่สัญญากับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แม้จะอ้างว่าเชื่อโดยสุจริตใจก็ตาม แต่ในการพิจารณาดำเนินการดังกล่าวควรพิจารณาไปในแนวทางที่ไม่เป็นเหตุให้บุคคลภายนอกมองไปได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทที่ตนเองและเครือญาติมีส่วนได้เสียในกิจการนั้นด้วย เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการในสายตาของบุคคลนอกได้ มติที่ประชุมคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6/2545 โดยได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่งคณะกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่ 8/2545 ให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา (ระดับ 11) เป็นการเฉพาะตัว โดยให้ได้รับเงินเดือนพร้อมสิทธิประโยชน์เช่นเดิมและให้ปฏิบัติงานตามที่ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมอบหมายต่อไป หลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการแล้ว จำเลยที่ 1 จ้างจำเลยที่ 12 เป็นผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์สรุปได้ว่า ข้ออ้างในการย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติเป็นเหตุนอกเหนือไปจากเหตุตามที่กฎหมายกำหนดอีกทั้งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 25 (2) นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 15 ซึ่งบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายมีอำนาจที่จะยับยั้งการกระทำใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่เห็นว่าเป็นการขัดต่อนโยบายหรือมติของรัฐมนตรีได้ด้วย ส่วนพนักงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน เมื่อปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2541 เรื่องจรรยาบรรณของกรรมการรัฐวิสาหกิจในข้อ 4 กำหนดให้กรรมการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่กระทำกับรัฐวิสาหกิจที่ตนเป็นกรรมการ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เมื่อโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับบริษัทที่ทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ข้ออ้างในการย้ายโจทก์จากตำแหน่งผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติไม่เป็นเหตุนอกเหนือไปจากเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้และไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พ.ศ.2522 มาตรา 25 (2) อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษายืน.

Share