แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ศาลได้ไต่สวนตามคำขอของจำเลยและสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้โดยเห็นว่ามีเหตุอันสมควรนั้น หากโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งที่อนุญาตนั้นไว้แล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิยกความข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาตาม มาตรา 226(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
เพียงแต่โจทก์ยื่นคำขอเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดนั้นหาถือว่าเป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลที่สั่งในภายหลังตามนัยดังกล่าวไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ก.ล. บิดามารดาโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1211 ได้ตายประมาณ 5 ปีมาแล้วไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ทั้ง 3 ได้ครอบครองร่วมกันมาจนบัดนี้ จำเลยไม่ได้เกี่ยวข้องแต่ได้กีดกันขัดขวางในการที่โจทก์จะขอรับมรดก ก.ล. จำเลยให้การว่าเป็นทายาทแทนที่บิดามารดาของจำเลยซึ่งเป็นบุตร ก.ล. และจำเลยต่างหากได้ครอบครองที่พิพาทร่วมกันมา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จำเลยที่ได้ครอบครองมีสิทธิรับมรดกคือ นายปุ่นโจทก์ทางตะวันออกที่ครอบครองมา 5 ไร่ นายพอนโจทก์ทางตะวันตก 5 ไร่เหลือนอกนั้นนายพันโจทก์และนายพลุจำเลยครอบครองร่วมกันมาให้แบ่งคนละส่วนเท่ากัน ไม่ตกลงให้ประมูลหรือขายทอดตลาดแบ่งเงิน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ศาลไม่ควรอนุญาตให้จำเลยนำพยานเข้าสืบนั้น ปรากฏว่า ศาลได้ไต่สวนคำขอของจำเลยและสั่งอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การได้โดยเห็นว่ามีเหตุอันสมควร โจทก์หาได้โต้แย้งคำสั่งที่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การนั้นแต่ประการใดไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิยกความข้อนี้ขึ้นอุทธรณ์ฎีกาตามมาตรา 226(2) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งการยื่นคำขอเพื่อให้ศาลสั่งว่าจำเลยขาดนัดไว้ในสำนวนเพียงเท่านี้จะถือว่า เป็นการโต้แย้งคำสั่งศาลที่สั่งในภายหลังหาได้ไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อตามศาลล่าง พิพากษายืน