คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3148/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทที่ชาวจีนฮกเกี้ยนได้ช่วยกันออกเงินซื้อที่ดินโดยให้ ล.เป็นผู้จัดการ ขณะร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพ โดยตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้ ล. เป็นทรัสตี ต่อมา ล.ได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า อันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดิน ฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ ลักษณะของป่าช้าจีนบ้าบ๋าไม่ใช่สถานีที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของ ล. เท่านั้น แต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใครถือได้ว่าทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายอันเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไปลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชน จึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป แม้ต่อมา ล. ได้ถึงแก่กรรมที่ประเทศสิงคโปร์แล้วก็ตาม แต่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไป ผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนได้ แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของ ล. คนในบังคับอังกฤษ ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่าที่พิพาทเป็นของ ล. ในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของ ล. ดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่ และที่พิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นฮวงซุ้ยของชาวจีนทั่วไปจากสภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตน ทั้งตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง การดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 496 เลขที่ 17 แขวงสาธร เขตบางรักกรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382ชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร มีหนังสือลงวันที่23 เมษายน 2534 หารืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องได้นำคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจากการตรวจสอบโฉนดที่ดินฉบับสำนักงานที่ดินพบว่า มีชื่อนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ซึ่งไม่ตรงกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่แจ้งว่าโฉนดที่ดินมีชื่อนายโลไกจวยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่อย่างเดียว ดังนั้นพนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนที่ดินให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ได้หรือไม่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 ถึงเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครว่า คดีมีข้อเท็จจริงบางประการที่จะต้องสอบสวนก่อนให้ระงับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ผู้ร้องยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 20 สิงหาคม 2534 ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทถึงที่สุดแล้วที่พิพาทจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ขอให้ศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่สั่งให้ระงับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ และแจ้งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องในโฉนดที่พิพาทต่อไป
อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องเมื่อวันที่26 สิงหาคม 2534 ว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นป่าช้าหรือสุสานฝังศพอันถือได้ว่าเป็นที่ดินสาธารณะมิใช่เป็นที่ดินของนายโลไกจวยดังที่ผู้ร้องนำสืบในชั้นไต่สวนขอแสดงกรรมสิทธิ์ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องนำสืบว่าเป็นที่ดินของนายโลไกจวยดังที่ปรากฏในคำสั่งศาลชั้นต้นจึงไม่ตรงกับหนังสือสำคัญสำหรับที่ดิน (โฉนด) ซึ่งระบุว่าเป็นที่ป่าช้าจึงยังไม่อาจมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้ สมควรให้ระงับการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงไว้ก่อนให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีถึงที่สุด
ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 24 ธันวาคม 2535 ว่าที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมีหนังสือลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2534แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครว่า มีข้อเท็จจริงบางประการที่จะต้องสอบสวนให้ระงับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ก่อนนั้นเป็นเวลาล่วงมา 2 ปีแล้ว แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้ทำการไต่สวนใด ๆเลย ส่วนที่อ้างว่าข้อนำสืบขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ตรงกับที่ปรากฏในโฉนดที่ดินนั้น ผู้ร้องได้ส่งสำเนาโฉนดที่ดินซึ่งระบุว่าทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่นายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าจึงไม่ได้ทำให้ศาลหลงผิด ข้อความที่ระบุในโฉนดดังกล่าวแสดงว่านายโลไกจวยมีเจตนาจะใช้ที่ดินของตนเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับศพของคนจีนบ้าบ๋าซึ่งเป็นพวกเดียวกับตนป่าช้าหรือสุสานฝังศพนั้นไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งระงับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทให้ผู้ร้อง เพราะเป็นคำสั่งที่แก้ไขหรือกลับคำสั่งศาลชั้นต้นซึ่งถึงที่สุดแล้ว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคสอง ขอให้ยกเลิกคำสั่งลงวันที่14 พฤษภาคม 2534 และลงวันที่ 26 สิงหาคม 2534 ของอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โฉนดที่พิพาททั้งแปลงให้ผู้ร้องตามคำสั่งศาลซึ่งถึงที่สุดแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า โฉนดที่ดินพิพาทออกให้แก่ทรัสตีหรือตรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า เพราะในขณะที่ออกโฉนดที่ดินในปี 2462 ใช้หลักกฎหมายอังกฤษซึ่งก่อตั้งทรัสต์ได้ และเหตุที่โฉนดที่ดินระบุว่า “ให้ไว้เป็นสำคัญแก่นายโลไกจวยในน่าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า” นั้นหมายความว่ามอบให้นายโลไกจวยเป็นผู้ดำเนินการจัดการครอบครองดูแลรักษาเพื่อใช้เป็นป่าช้าฝังศพตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์แก่ป่าช้าจีนบ้าบ๋าผู้รับประโยชน์ที่พิพาทจึงมิใช่ที่ส่วนบุคคลของนายโลไกจวย แต่เป็นที่สาธารณะสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน คำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการบังคับคดี และมิได้เป็นการกล่าวข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องนำสืบไม่ตรงกับหลักฐานในโฉนดที่ดินผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องมีกรรมสิทธิ์เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 เปลี่ยนแปลงโอนชื่อทางทะเบียนลงในโฉนดที่ดินดังกล่าว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่าปี 2527 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ที่ดินโฉนดพิพาทเฉพาะส่วนรูปแผนที่เนื้อที่ดินประมาณ125 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุลและคดีถึงที่สุดแล้ว คำสั่งศาลคดีนี้ที่ให้ที่พิพาททั้งแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง จึงทับส่วนของที่ดินที่นางสาวองุ่นได้กรรมสิทธิ์ไว้ คดีของผู้คัดค้านที่ 2 ในชั้นบังคับคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาในปัญหาว่าที่ดินโฉนดพิพาทเป็นของทรัสต์ มิใช่ที่สาธารณะ ส่วนคดีของผู้ร้องชั้นบังคับคดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลอุทธรณ์ฟังว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าหรือสุสานฝังศพอันเป็นที่สาธารณะ ผู้ร้องไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ให้ศาลวินิจฉัยอีกหากมีคำสั่งตามคำร้องของผู้ร้องจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท และกล่าวอ้างนำสืบพยานหลักฐานเป็นเท็จปกปิดความจริง ทำให้คำสั่งศาลที่ให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ไม่ตรงกับความเป็นจริงในหน้าโฉนดที่ดิน การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงจึงกระทำไม่ได้ ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่พิพาทในฐานะทายาทโดยธรรมของน้องชายสองคนของนายโลไกจวยซึ่งได้รับมรดกที่พิพาทจากนายโลไกจวยและได้ครอบครองตลอดมา ขณะนี้ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทคดียังไม่ถึงที่สุด ทั้งพนักงานสอบสวนกำลังดำเนินคดีอาญาผู้ร้องฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จด้วย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องปกปิดความจริงมิให้ศาลทราบว่าที่พิพาทเป็นที่ป่าช้า เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งในชั้นบังคับคดีผู้ร้องมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษา ศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าที่สาธารณะจึงถึงที่สุดแล้วและคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการขยายความคำสั่งของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งฉบับลงวันที่ 14 พฤษภาคม 2534 ที่สั่งว่ามีข้อเท็จจริงบางประการต้องสอบสวนก่อน ขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวนผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางลัดดาวัลย์ หมัดป้องตัวหรือมาเสมอ ผู้จัดการมรดกของนางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุล เข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้คัดค้านที่ 2
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาขอให้พิพากษาว่าที่พิพาทบางส่วนเนื้อที่ 125 ตารางวา ซึ่งนางสาวองุ่นสุรสิทธิ์กุล ได้มาโดยการครอบครองปรปักษ์ตามคำสั่งของศาลชั้นต้นผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับมรดกของนางสาวองุ่นสุรสิทธิ์กุล จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินจดทะเบียนการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของนางสาวองุ่น สุรสิทธิ์กุลตามคำสั่งของศาลชั้นต้นด้วยนั้น ปัญหาดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2ไม่ได้ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้น แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้ยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งไม่ใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องข้อแรกมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องชอบหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่ดินโฉนดพิพาทมีชื่อนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ตั้งแต่แรกมาจนถึงปัจจุบัน โดยก่อนจะมีการออกโฉนดที่ดินนั้นได้มีการนำเจ้าพนักงานที่ดินไปพิสูจน์สอบเขตที่พิพาทเพื่อออกโฉนดในนามของนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋ารวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 มกราคม2453 มีจีนหงวนเป็นผู้นำพิสูจน์แทน จีนหงวนให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการได้ที่ดินมาว่า ซื้อไว้แล้วยกเป็นของกลางประมาณ 28 ปีครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2459 นายโลไกจวยเป็นผู้นำไต่สวนที่ดินเอง ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2462 ทางราชการจึงออกโฉนดที่พิพาทและระบุว่าให้ไว้เป็นสำคัญแก่นายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ตามเอกสารหมาย ร.1 เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับคำเบิกความของนางจำปี วีระมล พยานผู้ร้องเองซึ่งตอบทนายผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 4 ว่า นายโลไกจวยเป็นผู้จัดการทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ชาวจีนฮกเกี้ยนช่วยกันออกเงินซื้อที่ดินโดยให้นายโลไกจวยเป็นผู้จัดการ บิดาสามีพยานก็ออกเงินซื้อที่พิพาทด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าชาวจีนฮกเกี้ยนได้ร่วมกันออกเงินซื้อที่พิพาทซึ่งยังไม่มีใบสำคัญสำหรับที่ดินเพื่อทำเป็นป่าช้าฝังศพ โดยตั้งเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าและให้นายโลไกจวยเป็นทรัสตี ต่อมานายโลไกจวยได้ไปดำเนินการออกโฉนดที่พิพาทและเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าอันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการออกโฉนดที่ดินฉบับที่ 2พ.ศ. 2459 มาตรา 8 ซึ่งบัญญัติว่า ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดเป็นทรัสตีในที่ดินมีโฉนดแผนที่รายใดก็ดี หรือในเรื่องที่ดินซึ่งมีใบไต่สวนหรือใบนำสำหรับโฉนดแผนที่ก็ดี ให้มีอำนาจมาจดทะเบียนลงชื่อตนเองได้และต่อชื่อนั้นไปให้บ่งข้อความว่า “ในน่าที่ทรัสตีเรื่องนั้น ๆ”ฯลฯ การที่นายโลไกจวยไปจดทะเบียนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าดังกล่าว แสดงให้เห็นได้อีกประการหนึ่งว่าได้มีการจัดตั้งทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าขึ้น รวมทั้งให้นายโลไกจวยเป็นทรัสตีอย่างช้าที่สุดในวันที่ได้ออกโฉนดที่ดินคือวันที่ 25 เมษายน 2462 การตั้งทรัสต์และทรัสตีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการจดทะเบียนกันไว้หรือไม่ก็มีผลบังคับได้ไม่เสียเปล่าไป ที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีจำนวนมากต่อมาได้มีผู้นำศพมาฝังไว้ในที่พิพาทเป็นจำนวนถึง 248 ศพบริเวณหลุมฝังศพมีการก่อปูนซีเมนต์ไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง การนำศพมาฝังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แก่เจ้าของที่ดิน เมื่อนายโลไกจวยตายแล้วมีการตั้งคณะกรรมการดูแลสุสานสืบต่อมา ปัจจุบันนี้ญาติของผู้ตายที่ฝังไว้ยังมาเคารพกราบไหว้ศพกันอยู่ บริเวณที่พิพาทมีศาลาสวดศพและศาลาพักศพรวม 2 หลัง เป็นศาลาบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายปีหนึ่งคณะกรรมการสุสานจัดให้มีการเซ่นไหว้ศพ 2 ครั้งคือวันเช็งเม้งและวันสารทจีน มีญาติผู้ตายมาเคารพศพจำนวนมากเห็นได้ว่าลักษณะของสุสานดังกล่าวไม่ใช่สถานที่ฝังศพสำหรับเฉพาะคนในตระกูลหรือกลุ่มพวกพ้องของนายโลไกจวยเท่านั้นแต่ใช้เป็นที่ฝังศพของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มาจากประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก โดยไม่มีข้อจำกัดว่าเป็นใครถือได้ว่าทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าตั้งขึ้นเพื่อใช้ที่ฝังศพและบำเพ็ญกุศลให้ผู้ตายนับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวจีนฮกเกี้ยนทั่วไป ลักษณะของทรัสต์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัสต์เพื่อการกุศลหรือทรัสต์มหาชนจึงเป็นทรัสต์ถาวรไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไปเองดังเช่นทรัสต์เอกชนทั่วไป แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าต่อมานายโลไกจวยได้ถึงแก่กรรมที่ประเทศสิงคโปร์แล้วแต่ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าก็ไม่ได้เลิกหรือสิ้นสภาพไปโดยผู้มีส่วนได้เสียของทรัสต์ดังกล่าวหรือพนักงานอัยการอาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนได้นอกจากนั้นข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปี 2535ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาคดีนี้ป่าช้าจีนบ้าบ๋ามีผู้ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตบางรักให้เป็นผู้จัดตั้งสุสานและฌาปนสถานและให้เป็นผู้จัดการบำรุงรักษาสุสานและฌาปนสถานแห่งนี้คราวละ 3 ปีโดยมีผู้ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสืบต่อกันมามิได้ว่างเว้น แสดงให้เห็นว่ากิจการของป่าช้าแห่งนี้ยังมีผู้บริหารงานต่อเนื่องเรื่อยมา โดยไม่ปรากฏว่าผู้บริหารงานดังกล่าวต้องไปขออนุญาตใช้สถานที่พิพาทจากผู้ร้องและผู้ร้องก็ไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้บริหารงานดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ครอบครองสถานที่แต่อย่างใด คดีนี้แม้ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นของนายโลไกจวย คนในบังคับอังกฤษผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์และศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่า ที่พิพาทเป็นของนายโลไกจวยในหน้าที่ทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋า ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโลไกจวยดังที่ผู้ร้องอ้างในคำร้องขอ ทั้งตามลักษณะที่พิพาทในขณะนั้นก็ยังเป็นป่าช้าฝังศพของชาวจีนอยู่และที่พิพาทส่วนใหญ่เป็นที่ฝังศพก่อปูนซีเมนต์มีรูปแบบเป็นฮวงซุ้ยของชาวจีนทั่วไป สภาพของป่าช้าดังกล่าวย่อมไม่มีบุคคลใดเข้าไปยึดถือเพื่อตนทั้งไม่น่าเชื่อว่าผู้ร้องได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทด้วยความสงบเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ นอกจากนั้น ในชั้นไต่สวนคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทผู้ร้องเองก็ไม่ได้นำสืบว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ ตามพฤติการณ์ของผู้ร้องตั้งแต่ยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่พิพาทและนำสืบพยานผู้ร้องในชั้นไต่สวนคำร้องเห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ศาลทราบความจริงว่าที่พิพาทเป็นป่าช้าฝังศพ เนื่องจากผู้ร้องเกรงว่าจะเป็นสาเหตุให้ศาลทราบว่าผู้ร้องไม่ได้เข้าไปครอบครองที่พิพาทอย่างเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตามที่ผู้ร้องอ้าง ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีของผู้ร้องดังกล่าวมาทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ไม่สมควรที่ผู้ร้องจะได้รับประโยชน์จากการกระทำอันไม่สุจริตของตน คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จึงไม่อาจบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งนั้นได้ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาผู้ร้องข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ให้ยกฎีกาของผู้คัดค้านที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้ผู้คัดค้านที่ 2

Share