คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2444/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดสองกรรมต่างกันคือฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายกระทงหนึ่งและฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาอีกกระทงหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์นำเอาการตายของผู้ตายซึ่งโจทก์บรรยายฟ้อง ว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำความผิดกระทงหลัง ซึ่งศาลชั้นต้น ยกฟ้องและยุติไปแล้วมารับฟังว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำ ของจำเลยกับพวกในความผิดกระทงแรก และพิพากษาลงโทษ จำเลยฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เป็นการพิพากษาในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องสำหรับความผิด กระทงแรก ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจ ยกขึ้นวินิจฉัยได้
จำเลยกับพวกได้รุมทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ เกิดอันตรายแก่กายอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ตามฟ้องกระทงแรก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องใน ความผิดกระทงแรกว่าจำเลย แต่ผู้เดียวทำร้ายร่างกายผู้ตาย และ ตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วยเป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด ทั้งจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ และ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288,289 โดยมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 295 มาด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 295 ได้เพราะถือได้ว่า เป็นความผิดที่รวมอยู่ในบทมาตราที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามและวรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289(4)(5), 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การ ถือว่าจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83จำคุกคนละ 8 ปี ข้อหาอื่นให้ยก

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2เสียจากสารบบความ

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1ว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ดังที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องมาในตอนแรกว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 20 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ชกต่อยผู้ตายถูกที่ปากและดั้งจมูกจนเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กาย แล้วมีคนเข้าห้ามปรามให้แยกจากกัน จากนั้นนายยวน ก๊กรัมย์ ได้พาผู้ตายไปนอนพักที่บ้าน ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยทั้งสองกับพวกได้ไปพาตัวผู้ตายออกจากบ้าน แล้วรุมชกต่อยผู้ตายและจับตัวผู้ตายโยนลงบนพื้นดินจนเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและสลบไปต่อมาผู้ตายได้ถึงแก่ความตายจากพิษบาดแผลที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำร้ายดังกล่าวในลักษณะสมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เนื่องจากถูกจำเลยทั้งสองกับพวกโยนลงบนพื้นดินกับกระดูกข้อแขนและข้อเท้าหลุด การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และโดยกระทำทารุณโหดร้ายตามคำฟ้องโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้โดยชัดแจ้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายในตอนแรกเมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกา นั้น ได้ขาดตอนไปแล้ว และหลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ชั่วโมง คือเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยที่ 1 กับพวกจึงได้กระทำความผิดขึ้นใหม่อีกฐานหนึ่ง ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์เป็นที่เข้าใจได้ว่า คือ ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายเพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องยืนยันว่าผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะสมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 กับพวกจับโยนลงบนพื้นดินในตอนหลังเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา หาใช่เกิดจากถูกจำเลยที่ 1 ชกต่อยในตอนแรกเมื่อเวลาประมาณ 20 นาฬิกาไม่ ดังนี้ จึงถือได้ว่าคดีนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรมต่างกันคือ ฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายกระทงหนึ่งและฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายอีกกระทงหนึ่ง ซึ่งเมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบจนสิ้นกระแสความและศาลชั้นต้นได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้วได้วินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคนร้ายที่ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายในตอนหลังหลังจากนายยวนพาผู้ตายไปส่งที่บ้านนางตุมแล้ว คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายในตอนแรก (เมื่อเวลา 19 นาฬิกาเศษ) เท่านั้น เท่ากับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1มิได้ร่วมกับพวกจับตัวผู้ตายโยนลงพื้นดินทำให้สมองผู้ตายได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในความผิดกระทงหลัง และศาลชั้นต้นก็ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดกระทงหลังนี้แล้ว โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น ความผิดกระทงหลังฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลล่างทั้งสองนำเอาการตายของผู้ตาย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำความผิดกระทงหลังมารับฟังว่าเป็นผลอันเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกในความผิดกระทงแรก แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 มานั้น ถือได้ว่าเป็นการพิพากษาในข้อที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องสำหรับความผิดกระทงแรกเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อได้วินิจฉัยดังนี้แล้ว จึงคงเหลือปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปเพียงว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามฟ้องกระทงแรกหรือไม่เท่านั้น ในปัญหาดังกล่าวโจทก์มีนายยวน ก๊กรัมย์ หลานโจทก์เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าวันเกิดเหตุพยานได้ไปนั่งดื่มสุราอยู่ที่บ้านนายสมพาน โกยรัมย์ ซึ่งอยู่เยื้องกับบ้านนายมูล คงศรี ห่างกันประมาณ 10 เมตร พยานเห็นผู้ตายกับจำเลยทั้งสองและคนอื่น ๆ อีกหลายคนนั่งดื่มสุรากันอยู่ที่บ้านนายมูล ต่อมาเวลา 19 นาฬิกาเศษพยานเห็นจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายโดยพยานเห็นเหตุการณ์ด้วยแสงไฟจากบ้านนายมูลและบ้านนายสมพาน พยานจึงวิ่งไปบอกนายยิน ก๊กรัมย์ พี่ชายพยานให้มาช่วย หลังจากนั้นพยานได้เข้าไปดึงตัวผู้ตายออกมาและพยานเห็นที่บริเวณปากผู้ตายมีโลหิตไหล จากนั้นพยานได้พาผู้ตายกลับไปที่บ้านนางตุม โกยรัมย์ ย่าผู้ตาย (ที่ถูก ยายผู้ตาย) และโจทก์มีนายยิน ก๊กรัมย์ พี่ชายนายยวนเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่าคืนเกิดเหตุ พยานได้รับแจ้งจากนายยวนว่าผู้ตายมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับจำเลยทั้งสองกับพวก พยานจึงไปที่เกิดเหตุเห็นผู้ตายถูกทำร้ายมีอาการหนักจึงพาผู้ตายไปส่งที่บ้านนางตุมซึ่งผู้ตายพักอาศัยอยู่ เช้าวันรุ่งขึ้นนายยวนได้ไปบอกพยานว่าผู้ตายนอนอยู่คอกกระบือนายเพิ่ม หลังจากนั้นพยานได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยทั้งสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองก็ยอมรับว่าได้ทำร้ายผู้ตายจริง นอกจากนี้ โจทก์ยังมีนายญาติ ก๊กรัมย์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของผู้ตายเป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันอีกว่า วันเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกาเศษ ขณะที่พยานนั่งดื่มสุราอยู่กับนายสมจิตร สายน้อย และนายยวน ก๊กรัมย์ กับพวกที่บ้านนายสมพานนั้น พยานได้ยินจำเลยที่ 2 บอกให้ผู้ตายพาไปที่บ้านนายสมจิตร เมื่อเดินไปถึงกลางถนนหน้าบ้านนายมูล พยานเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกได้รุมชกต่อยผู้ตาย พยานบอกให้นายยวนเข้าไปห้าม จำเลยทั้งสองกับพวกจึงหยุดทำร้ายผู้ตาย และพยานเห็นผู้ตายได้รับบาดเจ็บมีโลหิตไหลออกทางปาก ฟันหัก 2 ซี่ กับมีรอยช้ำตามร่างกาย และโจทก์ยังมีนายสมจิตร สายน้อย ญาติโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันเช่นเดียวกับนายญาติว่า ขณะเกิดเหตุพยานเห็นจำเลยทั้งสองกับพวกรุมชกต่อยผู้ตายที่กลางถนนหน้าบ้านนายมูลจริง โดยพยานเห็นผู้ตายถูกทำร้ายมีโลหิตไหลออกจากทางจมูกและปากด้วย เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวต่างก็ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน โดยเฉพาะนายสมจิตรก็เป็นญาติจำเลยที่ 1 ด้วย ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะสมคบกันมาเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษทั้งพยานโจทก์ดังกล่าวก็เบิกความได้สอดคล้องต้องกันในข้อสาระสำคัญของเหตุการณ์แม้จะมีข้อแตกต่างกันบ้างดังที่จำเลยที่ 1 อ้างมาในฎีกา แต่ข้อแตกต่างดังกล่าวก็เป็นเพียงรายละเอียด หาเป็นข้อพิรุธทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวถึงกับรับฟังไม่ได้เสียทั้งหมดไม่คดีได้ความจากคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกไพโรจน์ ปลั่งสกุล พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่าวันรุ่งขึ้นจากคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ9 นาฬิกา มีชาวบ้านนำหนังสือของนายเวย ก๊กรัมย์ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่เกิดเหตุมาแจ้งความแก่พยานโดยหนังสือของนายเวยระบุว่าผู้ตายได้ถูกจำเลยที่ 1 ทำร้าย และในวันนั้นได้มีการจับกุมจำเลยที่ 1 มาดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยที่ 1ให้การรับสารภาพ สอดคล้องตรงบันทึกการจับกุมในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ ซึ่งโจทก์อ้างเป็นพยานและขอให้ศาลหมายเรียกจากพนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์มาประกอบการพิจารณา ได้ความจากคำเบิกความของพนักงานสอบสวน พยานโจทก์ต่อไปอีกว่า ชั้นสอบสวนพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยจำเลยที่ 1 ให้การไว้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และผู้ตายซึ่งเมาสุราได้ชกต่อยกัน จำเลยที่ 1 เข้าห้ามไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงชกต่อยผู้ตายถูกที่บริเวณปลายคาง ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1 แผ่นที่ 1 และหลังจากพยานทราบว่าผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว พยานได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยที่ 1 ว่า ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา จำเลยที่ 1 ยังคงยืนยันให้การรับสารภาพว่าจำเลยที่ 1 ได้ชกต่อยผู้ตายจนล้มหงายท้อง ศีรษะกระแทกพื้นจริงตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1 แผ่นที่ 2 เห็นว่า พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่และไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะปรุงแต่งเรื่องราวตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1ขึ้นมาเองเพื่อกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับโทษเชื่อได้ว่าพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1 ไปตามที่จำเลยที่ 1 ให้การเองโดยสมัครใจ จึงใช้ยันจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ส่วนที่จำเลยที่ 1นำสืบโต้เถียงว่าชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่เจ้าพนักงานตำรวจได้นำบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.1 ซึ่งพิมพ์ข้อความไว้แล้วให้จำเลยที่ 1 ลงชื่อ โดยไม่ได้อ่านให้จำเลยที่ 1 ฟัง และจำเลยที่ 1ก็ไม่ได้อ่านเองนั้น คงมีแต่ตัวจำเลยที่ 1 เบิกความอ้างลอย ๆ ปากเดียวทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ถามค้านพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ในข้อนี้ไว้การที่จำเลยที่ 1 มานำสืบข้างเดียวในภายหลังเช่นนี้ ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานโจทก์ในข้อนี้ได้ ยิ่งกว่านั้นในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1ยังได้เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์รับว่า คืนเกิดเหตุผู้ตายมีเรื่องชกต่อยกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้ร่วมชกต่อยผู้ตายด้วย ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวข้างต้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงเชื่อได้ว่าคืนเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 กับพวกได้รุมชกต่อยทำร้ายผู้ตายจริงตามที่โจทก์นำสืบพยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ในส่วนนี้ได้ได้ความจากรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายในสำนวนการสอบสวนว่า ผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำตามริมฝีปาก สอดคล้องกับคำเบิกความของนายยวน นายญาติ และนายสมจิตร ประจักษ์พยานโจทก์ข้อที่ว่าคืนเกิดเหตุพยานเห็นผู้ตายถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บมีโลหิตไหลที่ปากซึ่งมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเป็นผลอันเกิดจากถูกจำเลยที่ 1 กับพวกชกต่อยนั่นเอง ส่วนที่พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว พยานได้ดูศพผู้ตาย ไม่ปรากฏว่ามีรอยฟกช้ำตามร่างกายผู้ตาย น่าจะเป็นการเบิกความคลาดเคลื่อนไปเพราะขัดกับบาดแผลผู้ตาย ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าคืนเกิดเหตุเวลา 19 นาฬิกาเศษจำเลยที่ 1 กับพวกได้รุมทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295ตามฟ้องกระทงแรก แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องในความผิดกระทงแรกนี้มาว่า จำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวทำร้ายร่างกายผู้ตายและตามทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วย เป็นเพียงข้อแตกต่างในรายละเอียด ทั้งจำเลยที่ 1 ก็มิได้หลงต่อสู้ และแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289 โดยมิได้ขอให้ลงโทษตามมาตรา 295 มาด้วยก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 295 ได้ เพราะถือได้ว่าเป็นความผิดที่รวมอยู่ในบทมาตราที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสามและวรรคท้าย ปัญหาข้ออื่นตามฎีกาจำเลยที่ 1 ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไปเพราะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 จำคุก 2 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้วคงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share