แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ริบของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดมาด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยยังมิได้วินิจฉัยในเรื่องของกลาง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9)ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบของกลางได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง โดยไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นไม้ในป่าและไม้กฤษณาจำนวนหลายต้น ซึ่งไม้กฤษณาเป็นไม้และของป่าหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาและตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อันเป็นการทำให้เกิดการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติและสภาพป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับใบอนุญาตและมิได้รับยกเว้นตามกฎหมาย ภายหลังจากจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้งสองร่วมกันมีชิ้นไม้กฤษณา 202 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยชิ้นไม้กฤษณา 202 กิโลกรัม ซึ่งจำเลยทั้งสองได้มาจากการกระทำความผิดดังกล่าว และยึดได้มีด 1 เล่ม สิ่วปากโพง 4 เล่มหินลับมีด 3 อัน ขวาน 2 เล่ม ใบเลื่อยเหล็ก 1 ใบ อุปกรณ์เครื่องครัว 1 ชุด ผ้าเต็นท์ 1 หลัง และสมุดบันทึก 1 เล่ม ซึ่งจำเลยทั้งสองมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 5, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 29, 29 ทวิ, 54, 71 ทวิ, 72 ตรี, 74 ทวิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 29, 29 ทวิ, 54, 71 ทวิ, 72 ตรี (ที่ถูก 72 ตรี วรรคหนึ่ง) พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 38, 54 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งของป่าหวงห้ามเกินปริมาณที่กำหนด จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ6 เดือน รวมจำคุกคนละ 12 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ริบของกลาง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาให้ริบของกลางโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 หรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ริบของกลางในคดีนี้ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดมาด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยยังมิได้วินิจฉัยในเรื่องของกลาง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 186(9) ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบของกลางได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง โดยไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนนี้ชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน