คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3579/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่ น. บอกให้ลงลายมือชื่อได้ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่อักษรตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ พินัยกรรมมีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรมทั้งในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่า ผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดย น. บอกให้เขียนทีละตัว เชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตาม วัน เดือน ปีที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ผู้ตาย จำเลยเป็นสามีของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย หลังจากนั้นจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่126407 และ 178892 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียว และนำที่ดินโฉนดเลขที่ 178892 ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้สินของจำเลยแก่นายชวน เกตุสุวรรณ์ พินัยกรรมที่จำเลยอ้าง ผู้ตายไม่มีเจตนาที่จะกระทำ และเป็นการปลอมพินัยกรรมไม่สามารถใช้บังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ของผู้ตายเป็นโมฆะ มีคำสั่งว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดก ห้ามยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกพร้อมทั้งส่งคืนบรรดาทรัพย์มรดกและเอกสารต่าง ๆ อันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย และเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยกระทำเกี่ยวกับทรัพย์มรดกโดยมิชอบ

จำเลยให้การว่า พินัยกรรมตามฟ้องสมบูรณ์ เพราะผู้ตายกระทำในขณะที่สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ มีพยานโดยถูกต้อง จำเลยจัดการมรดกไปตามสิทธิและหน้าที่รับผิดชอบตามข้อกำหนดพินัยกรรม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์มรดก ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2535 ของนางสุรัตน์เกตุสุวรรณ์ ผู้ตายเป็นโมฆะ คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ ผู้ตาย ให้ส่งคืนบรรดาทรัพย์มรดกและเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์มรดกดังกล่าวและให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 126407 และ 178892 เป็นของจำเลยตลอดจนการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 178892 แก่นายชวน เกตุสุวรรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 สมบูรณ์ไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ปัญหานี้เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 ระบุสถานที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงความจริง วัน เดือน ปี ที่ระบุไว้ในพินัยกรรมเป็นที่น่าสงสัย ทั้งผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยพยานมิได้อยู่ในขณะนั้น การทำพินัยกรรมจึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีผลให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 แล้วพิพากษาว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6 เป็นโมฆะ จำเลยมิได้อุทธรณ์ ดังนั้นปัญหานี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าผู้ตายมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอันเป็นข้อเท็จจริงนำไปสู้ข้อกฎหมายว่าพินัยกรรมโมฆะ แม้ศาลอุทธรณ์จะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกเพราะฉ้อฉลให้ผู้ตายทำพินัยกรรมและจำเลยปลอมพินัยกรรมหรือไม่และศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับทรัพย์มรดกหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติในชั้นนี้ว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมขณะรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์มะเร็งกรุงเทพ โดยเวลานั้น มีนางพิสมัย มณฑานุช และนางนัยนา เกตุสุวรรณ์ ซึ่งเป็นพยานโจทก์รู้เห็นในการลงลายมือชื่อของผู้ตายในพินัยกรรม โดยนางพิสมัยเบิกความว่า ขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมผู้ตายมีอาการหนักมากไม่สามารถคุยได้ ผู้ตายลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่ได้อ่านข้อความและการลงลายมือชื่อก็เขียนทีละตัวอย่างช้า ๆ ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง เนื่องจากผู้ตายจะลงลายมือชื่อได้เมื่อมีสติพักหนึ่งก็จะฟุบไป เมื่อมีสติก็จะเรียกให้ลงลายมือชื่อใหม่ทีละตัวโดยนางนัยนาช่วยประคองผู้ตายให้นั่งบนเตียงแล้วให้ผู้ตายลงลายมือชื่อ นางนัยนาเบิกความว่า ขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อต้องช่วยกันบอกให้เขียนหนังสือทีละครั้ง ไม่ได้อ่านข้อความในพินัยกรรมให้ผู้ตายฟัง ทั้งไม่มีผู้ใดบอกผู้ตายว่าที่ลงลายมือชื่อเป็นพินัยกรรม พยานคอยบอกให้ผู้ตายลากเส้นปากกาสะกดจากตัวอักษร เห็นว่า ตามคำพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อยู่เพราะสามารถลงลายมือชื่อตามที่นางนัยนาบอกให้ลงลายมือชื่อได้และลงลายมือชื่ออย่างมีสติตามที่นางพิสมัยเบิกความ นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบลายมือชื่อผู้ตายในพินัยกรรมกับเอกสารอื่นที่ผู้ตายเคยลงลายมือชื่อไว้แล้วมีลักษณะลีลาการเขียนอย่างเดียวกันเพียงแต่ตัวอักษรตัวใหญ่กว่าเท่านั้น จึงเป็นข้อสนับสนุนว่าผู้ตายได้ลงลายมือชื่ออย่างมีสติ ยิ่งกว่านั้น พินัยกรรมตามเอกสารหมาย จ.6มีเพียงหน้าเดียวเป็นตัวพิมพ์มีข้อความด้านบนระบุว่าพินัยกรรม ทั้งในช่องที่ผู้ตายลงลายมือชื่อนั้นก็พิมพ์ข้อความว่าผู้ทำพินัยกรรม ไว้ ผู้ตายต้องใช้เวลาในการลงลายมือชื่อถึงครึ่งชั่วโมง โดยนางนัยนาบอกให้เขียนทีละตัวเช่นนี้ ศาลเชื่อว่าผู้ตายน่าจะเห็นข้อความคำว่าพินัยกรรมและทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม ดังนั้น การลงลายมือชื่อของผู้ตายยังถือไม่ได้ว่าถูกจำเลยฉ้อฉลให้ทำพินัยกรรม ส่วนที่พินัยกรรมระบุสถานที่ไม่ตรงตามสถานที่จริงและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมไม่ตรงตามวัน เดือน ปี ที่แท้จริงนั้นข้อความดังกล่าวก็ปรากฏอยู่แล้วในขณะที่ผู้ตายลงลายมือชื่อ แม้จำเลยจะเป็นผู้จัดทำมาก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการปลอมพินัยกรรม จำเลยจึงไม่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามฟ้องแต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองด้วยนั้นเห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องผู้รับจำนองเข้ามาด้วย การที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนการจำนองจึงเป็นการสั่งที่กระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความในคดีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เป็นการไม่ชอบ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ให้ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของนางสุรัตน์ เกตุสุวรรณ์ ผู้ตายนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาล แม้จำเลยจะโอนที่ดินเป็นของตนแล้วนำไปจำนองกับบุคคลภายนอกก็เป็นการโอนตามพินัยกรรมที่จำเลยเข้าใจว่าสมบูรณ์และไม่ปรากฏจากทางนำสืบว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ไม่ถูกต้องในการเป็นผู้จัดการมรดกหรือมีเหตุอันจะให้เพิกถอนผู้จัดการมรดก เมื่อจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล จำเลยย่อมมีสิทธิจัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share