คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6241/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณา จากบทกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องจำเลยจะอ้างว่าฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิด ตามบทกฎหมายซึ่งใช้บังคับภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องหาได้ไม่ เช็คพิพาทมีมูลหนี้อันเกิดจากการยอมความกันสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีจำเลยในข้อหายักยอกเงินของโจทก์ร่วมซึ่งจำเลยตกลงยอมใช้เงินแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำเงินตามเช็คพิพาทมาวางศาลในคดีที่จำเลยและโจทก์ร่วมพิพาทกันอยู่ แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมรับโดยไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุใด การกระทำของจำเลย เป็นการปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องกระทำตามที่ตกลงยอมความไว้กับโจทก์ร่วมแล้ว จึงถือได้ว่าหนี้อันเกิดขึ้นจากการยอมความในส่วนที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาท นั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึง เลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธิของโจทก์ในการนำคดี มาฟ้องจึงระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2533 เวลากลางวันจำเลยออกเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสามพรานเลขที่ 0433823, 0433824, 0433825 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2533 วันที่ 10 ธันวาคม 2533 และวันที่ 10 มกราคม 2534 ตามลำดับ จำนวนเงินฉบับละ 17,361 บาท ชำระหนี้ให้แก่นางสาวสะอาด แซ่คู ผู้เสียหายเมื่อถึงกำหนดการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับ ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2533 วันที่ 11 ธันวาคม 2533 และวันที่ 10 มกราคม 2534 เวลากลางวัน ให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย” การกระทำของจำเลยเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค หรือออกเช็คโดยในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะให้ใช้เงินได้ ในขณะที่ออกเช็คนั้นหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็ค จนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาวสะอาด แซ่คู ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 การระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกกระทงละ 15 วัน รวมโทษจำคุก 45 วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาข้อแรกว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็ครวม 3 ฉบับ เป็นเงินรวมกัน 52,083 บาทชำระหนี้ให้โจทก์ โดยไม่ระบุว่าเป็นหนี้ค่าอะไรและเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงซึ่งสามารถบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตาม มาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 นั้น เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ต้องพิจารณาจากบทกฎหมายที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง คดีนี้ ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ยังใช้บังคับอยู่ ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยออกเช็คชำระหนี้โจทก์โดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฯลฯ และธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยจะอ้างว่าฟ้องโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องหาได้ไม่
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาจำเลยมีว่า ที่จำเลยนำเงินจำนวน52,083 บาท ตามเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ ไปชำระให้โจทก์ร่วมโดยวางไว้ต่อศาลชั้นต้นก่อนคดีถึงที่สุดนั้นมีผลทำให้หนี้ตามเช็คพิพาทสิ้นผลผูกพันที่จะถือว่าคดีเลิกกันไม่ ปรากฏตามสำนวนว่าระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าววางไว้ต่อศาลชั้นต้นและยื่นคำร้องว่าจำเลยประสงค์จะชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมไม่ยอมรับจึงขอวางไว้ต่อศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วม และในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลชั้นต้นให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาไปเพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องของจำเลยดังกล่าวนั้น โจทก์ร่วมก็มาศาลปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า เช็คพิพาทมีมูลหนี้อันเกิดจากการยอมความกันสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีจำเลยในข้อหายักยอกเงินของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยตกลงยอมใช้เงินแก่โจทก์ร่วม การที่จำเลยนำเงินตามเช็คพิพาทมาวางศาลในคดีที่จำเลยและโจทก์ร่วมพิพาทกันอยู่ตามคำร้องของจำเลยดังกล่าวข้างต้น และต่อมาโจทก์ร่วมก็มาศาล เห็นได้ว่าจำเลยได้ขอชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมแล้ว โจทก์ร่วมไม่ยอมรับโดยไม่ปรากฏว่าเพราะเหตุใด จำเลยจึงนำเงินมาวางต่อศาลเพื่อชำระให้แก่โจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องกระทำตามที่ตกลงยอมความไว้กับโจทก์ร่วมแล้ว จึงถือได้ว่าหนี้อันเกิดขึ้นจากการยอมความเฉพาะในส่วนที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7ดังนั้นสิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลยข้ออื่นต่อไป”
จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

Share