คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7818/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามสัญญาจ้างระบุว่าจำเลยที่2ผู้รับจ้างจะต้องก่อสร้างตามรูปแบบและรายการที่จำเลยที่1ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ทุกประการและจำเลยที่1ได้แต่งตั้งให้ว.ช่างโยธาของจำเลยที่1เป็นผู้ควบคุมงานเมื่อว.เห็นว่าจำเลยที่4ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการของจำเลยที่2ใช้คนและเครื่องจักรขุดดินรางระบายน้ำเก่าโดยไม่ได้ใช้ไม้ค้ำยันและอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ดินพังลงมาแต่ว.ก็มิได้สั่งห้ามมิให้ทำเป็นเหตุให้ดินพังลงมาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายถือว่าจำเลยที่1ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วยจำเลยที่1จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่2ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา428เพราะว.ผู้ควบคุมงานของจำเลยที่1มีหน้าที่ควบคุมวิธีการก่อสร้างด้วยมิใช่มีหน้าที่เพียงควบคุมให้ผลของงานเป็นไปตามสัญญาเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ในฐานส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประเสริฐ วงศ์เกิดประโยชน์ เป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 908 และอาคาร 2 ชั้น 1 คูหา เลขที่ 4 ถนนเยาวราชตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภททบวงการเมืองจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กแบบรางปิด ริมถนนรัษฎา จากสี่แยกถนนรัษฎา – ตะกั่วป่า ถึงคูน้ำเหม็น และจากวงเวียนสุริยเดช ถนนเยาวราช ถึงคูน้ำเหม็นทั้งสองด้านขนาดกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 218 เมตร และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างรางระบายน้ำตามสัญญาดังกล่าว ในการก่อสร้างรางระบายน้ำตามสัญญาริมถนนหน้าอาคารเลขที่ 4 ดังกล่าว จำเลยทั้งสี่กระทำการโดยประมาท กล่าวคือ จำเลยที่ 1 เลือกจ้างจำเลยที่ 2ที่ไม่มีผลงานการก่อสร้างมาก่อนได้รับจ้างก่อสร้างรางระบายน้ำดังกล่าว และจำเลยที่ 1 มิได้กำหนดวิธีการให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ใช้คนและเครื่องจักรด้วยความระมัดระวัง สำหรับการขุดดินและรื้อรางระบายน้ำเดิมออกไปพร้อมทั้งใช้ไม้ค้ำยันไม่ให้ดินใต้อาคารเลื่อนไหล เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ใช้คนและเครื่องจักรขุดดินและรื้อรางระบายน้ำเดิมบริเวณริมถนนหน้าอาคารเลขที่ 4 ออกไป โดยมิได้ใช้อุปกรณ์ป้องกันการเลื่อนไหลของดินใต้อาคารแต่ประการใด ทำให้อาคารข้างเคียงอาคารเลขที่ 4หักพังลงและอาคารเลขที่ 4 หักพังลงไปด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสี่ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น270,390 บาท จำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 90,740 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน179,650 บาท พร้อมทั้ง ดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองแล้วเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นรายวันวันละ 380 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าการก่อสร้างซ่อมแซมอาคารเลขที่ 4แล้วเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การที่จำเลยที่ 1 ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ให้ทำการก่อสร้างรางระบายน้ำดังกล่าวเป็นลักษณะจ้างทำของโดยถือเอาผลสำเร็จของงานที่ว่าจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เข้าควบคุมหรือสั่งการทำงานก่อสร้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีหน้าที่ที่จะต้องใช้ความรู้ความสามารถและความระมัดระวังการทำงานตามสัญญาโดยมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดในการที่จำเลยที่ 1 ได้พิจารณาเลือกทำสัญญากับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการ เนื่องจากจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นช่างฝีมือดี มีผลงานการก่อสร้างเป็นที่เชื่อถือได้มาหลายงานแล้ว และมีความรู้ความสามารถและความระมัดระวังในด้านการก่อสร้างเป็นอย่างดี โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการขุดรางระบายน้ำสาธารณะเป็นอย่างดีแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 58,979 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 จำนวน29,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 22กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการให้ก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กจากสี่แยกถนนรัษฎา-ตะกั่วป่าถึงคูน้ำเหม็น และจากวงเวียนสุริยเดชถึงคูน้ำเหม็นทั้งสองด้านตามสำเนาสัญญาจ้าง แบบแปลนประกอบสัญญาจ้างและรายการก่อสร้างรางระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กเทศบาลเมืองภูเก็ต เอกสารหมาย จ.5(ล.1) จ.6 จ.7 (ล.2) และ ล.5 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยที่ 4เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างรางระบายน้ำ จำเลยที่ 1 แต่งตั้งให้นายวิชานนท์ ร่างใหญ่ ช่างโยธาข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 1เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างรางระบายน้ำดังกล่าว เมื่อวันที่ 7 มกราคม2533 จำเลยที่ 4 ได้ใช้คนและเครื่องจักรขุดดินรางระบายน้ำเดิมริมถนนเยาวราชหน้าอาคารเลขที่ 4 เพื่อก่อสร้างรางระบายน้ำใหม่โดยไม่ได้ใช้ไม้ค้ำยันและอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ดินพังลงมาทำให้ดินใต้อาคารเลขที่ 4 และอาคารซึ่งอยู่ติดต่อกันฟังเป็นเหตุให้อาคารเลขที่ 4 ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นเงิน58,979 บาท และทำให้สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ทับถมสินค้าของโจทก์ที่ 2เสียหายเป็นเงิน 29,850 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4หรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.5 (ล.1) ข้อ 4 จำเลยที่ 2ผู้รับจ้างจะต้องก่อสร้างตามรูปแบบและรายการที่จำเลยที่ 1ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ทุกประการ และจำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้นายวิชานนท์ช่างโยธาของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมงาน เมื่อนายวิชานนท์เห็นว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการของจำเลยที่ 2ใช้คนและเครื่องจักรขุดดินรางระบายน้ำเก่าโดยไม่ได้ใช้ไม้ค้ำยันและอุปกรณ์ป้องกันไม่ให้ดินพังลงมา แต่นายวิชานนท์ก็มิได้สั่งห้ามมิให้ทำเป็นเหตุให้ดินพังลงมาทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายถือว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ว่าจ้างเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่จำเลยที่ 2 ผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 นายวิชานนท์ผู้ควบคุมงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมวิธีการก่อสร้างด้วย มิใช่มีหน้าที่เพียงควบคุมให้ผลของงานเป็นไปตามสัญญาตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาเท่านั้น
พิพากษายืน

Share