คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1914/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 83 นั้น เมื่อเจ้าหน้าที่รับอายัดไว้แล้ว ผู้ขออายัดต้องไปดำเนินการ ทางศาลภายในเวลาที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ถ้าไม่ดำเนินการทางศาล การอายัดก็สิ้นผลเมื่อพ้นเวลา ดังกล่าว แต่ถ้าผู้ขออายัดดำเนินการทางศาล ภายในเวลาดังกล่าว การอายัดก็ยังคงมีผลอยู่ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษา
โจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โดย รู้อยู่ว่าที่ดินนั้นเป็นสินสมรสระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 2 และคดีที่จำเลยที่ 2 ฟ้อง ต. ขอหย่าและขอ แบ่งที่ดินนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล และโจทก์ยังซื้อโดยคบคิดกับ ต. และพวก เพื่อหลีกเลี่ยงการ แบ่งที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 2 ฟ้องขอแบ่งไว้ ดังนั้นจะถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินนั้น โดยสุจริตในการขายทอดตลาด ตามคำสั่งศาลไม่ได้ โจทก์จึง ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1330 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดิน ๒ แปลงจากการขายทอดตลาดของศาล ศาลมีหนังสือให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตามอ้างว่าจำเลยที่ ๒ ได้ขออายัดที่ดินทั้งสองแปลง และจำเลยที่ ๑ ได้รับอายัดไว้ ขอให้พิพากษาเพิกถอนการอายัด
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ยื่นขออายัดต่อจำเลยที่ ๑ โดยอ้างว่าเป็นภริยาของนายตวงศักดิ์เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินสมรส จำเลยที่ ๒ กำลังดำเนินการฟ้องหย่าขาดจากนายตวงศักดิ์ จึงนับว่าจำเลยที่ ๒ มีความผูกพันกับที่ดินตามฟ้องอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ จำเลยที่ ๑ รับอายัดโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า บริษัทเวลโกรผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับนายตวงศักดิ์และโจทก์คดีนี้ทำเพทุบายสมคบกันแก้งทำเป็นมีหนี้สินให้บริษัทดังกล่าวฟ้องนายตวงศักดิ์เป็นคดีแพ่ง อันเป็นอุบายหาทางหลีกเลี่ยงการบังคับคดีของจำเลยที่ ๒ ต่อนายตวงศักดิ์ หากมีการซื้อขายที่ดินตามฟ้องจริงเงินที่ซื้อก็เป็นเงินของนายตวงศักดิ์ โจทก์ซื้อแทนนายตวงศักดิ์เพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามฟ้อง โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการอายัด ให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินมีข้อความว่า
“ผู้ใดมีส่วนได้เสียในที่ดินใดอันอาจจะฟ้องบังคับให้มีการจดทะเบียนหรือให้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนได้ มีความประสงค์จะขออายัดที่ดินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ให้ทำได้
เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนเห็นสมควรให้รับอายัดไว้ได้ไม่เกินกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ขออายัด โดยให้ผู้นั้นไปดำเนินการทางศาลเมื่อศาลได้มีคำสั่งหรือคำพิพากษาแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปตามควรแก่กรณี”
ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่รับอายัดที่ดินไว้แล้ว ผู้อายัดต้องไปดำเนินการทางศาลภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ถ้าดำเนินการทางศาลการอายัดก็สิ้นผลเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว แต่ถ้าผู้อายัดดำเนินการทางศาลภายในระยะเวลาดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการในเรื่องที่ดินนั้นได้ต่อเมื่อศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา และศาลฎีกายังเห็นอีกว่าคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๘๙/๒๔๙๘ ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ เรื่อง การอายัดที่ดิน ข้อ ๖ ที่ห้ามออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินหรือจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่อายัด เว้นแต่ศาลมีคำสั่งหรือการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ไม่เสียหายแก่ผู้ขออายัดไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน จำเลยที่ ๒ ผู้ขออายัดที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินดังกล่าว และได้ฟ้องนายตวงศักดิ์ขอแบ่งที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงตามที่ตนมีสิทธิ ซึ่งเป็นการฟ้องตามประเด็นที่ขออายัดภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดกำหนด การอายัดจึงยังคงมีต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงในประเด็นที่ขออายัด แต่ปรากฏว่าในระหว่างยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงในประเด็นที่ขออายัด โจทก์ได้ซื้อที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงในการขายทอดตลาดของศาลในการบังคับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๕๐/๒๕๒๓ จึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์จะเอาการซื้อที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงดังกล่าวมายันจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัดที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงกับจำเลยที่ ๒ ผู้ขออายัดได้หรือไม่ เนื่องจากโจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล จึงต้องปรับบทด้วยมาตรา ๑๓๓๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่มีข้อความว่า
“สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลหรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้นท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษาหรือผู้ล้มละลาย”
ตามบัญญัติดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์สินในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจะต้องซื้อโดยสุจริต จึงจะได้รับความคุ้มครองจากบทมาตรานี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านอกจากโจทก์จะซื้อที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินสมรสระหว่างนายตวงศักดิ์กับจำเลยที่ ๒ และคดีที่จำเลยที่ ๒ ฟ้องนายตวงศักดิ์ขอหย่าและแบ่งที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลแล้ว โจทก์ยังซื้อโดยคบคิดกับนายตวงศักดิ์และน้อง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการแบ่งที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามที่จำเลยที่ ๒ ฟ้องขอแบ่งไว้ ดังนั้นจะถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลไม่ได้โจทก์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๓๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เป็นของจำเลยที่ ๒ การอาศัยที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงตามมาตรา ๘๓ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินยังไม่สิ้นผล ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ดินมีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลง เว้นแต่ศาลจะสั่งหรือการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นไม่เสียหายแก่ผู้ขออายัดตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ ๑๘๙/๒๔๙๘ เรื่อง การอายัดที่ดิน ลงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ข้อ ๖ ดังนั้นโจทก์จะเอาการซื้อทอดตลาดที่ดินตามฟ้องทั้งสองแปลงตามคำสั่งศาลคราวนี้มายันจำเลยที่ ๒ ผู้ขออายัดและจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับอายัด เพื่อให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการอายัดและบังคับคดีตามคำขอของโจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์แต่ผู้เดียวไม่ได้ เพราะโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงจากการซื้อทอดตลาดตามคำสั่งศาลเพียงกึ่งหนึ่งเฉพาะส่วนของนายตวงศักดิ์เท่านั้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share