แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฐานปล้นทรัพย์แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยได้ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมจนได้รับอันตรายแก่กายซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์คือการชิงทรัพย์โดยการใช้กำลังประทุษร้ายรวมอยู่ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340, 340 ตรี, 371, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 2, 72, 72 ทวิ คืนของกลางแก่ผู้เสียหายและให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน68,515 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมจิตต์ ผลพรวิทูร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิวรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 340 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี, 371 จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 340 วรรคสอง, 371 ลงโทษจำเลยที่ 1ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 22 ปี 6 เดือน ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือนฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 22 ปี 20 เดือน ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานปล้นทรัพย์จำคุก 15 ปี ฐานพาอาวุธมีดปรับ 100 บาทรวมจำคุก 15 ปี และปรับ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนของกลางให้แก่ผู้เสียหายให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน68,515 บาท แก่ผู้เสียหาย ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 5
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมถูกคนร้ายหลายคนร่วมกันทำร้ายได้รับบาดเจ็บปรากฏรายละเอียดตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อน่าสงสัย รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันพวกปล้นทรัพย์โจทก์ร่วมโดยมีและพาอาวุธปืนมีดติดตัวมา แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ว่าโจทก์ร่วมถูกกระชากคอเสื้อ เมื่อตื่นขึ้นมาแล้วจำเลยที่ 1 ขู่ว่าอย่าสู้ แล้วจำเลยที่ 4 กับคนร้ายอีกคนหนึ่งได้เข้ามาเตะต่อยโจทก์ร่วมประกอบข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 ที่อ้างว่าก่อนวันเกิดเหตุ 1 วัน โจทก์ร่วมพาพวกไปชกต่อยจำเลยที่ 1 ที่กระทรวงการต่างประเทศแล้ว มีเหตุผลเชื่อได้ว่าที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไปที่ห้องพักของโจทก์ร่วมในวันเกิดเหตุเพื่อทำร้ายโจทก์ร่วมเป็นการแก้แค้นเท่านั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้ร่วมกับทำร้ายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ฐานปล้นทรัพย์แต่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยได้ร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมจนได้รับอันตรายแก่กายซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์คือการชิงทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายรวมอยู่ด้วยศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 2 เดือนและปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 1 และที่ 4 ไว้คนละ 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์