แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เมื่อมีข่าวหนังสือพิมพ์พาดพิงถึงโจทก์จำเลย จำเลยจึงชี้แจงข่าวดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรม ไม่เป็นหมิ่นประมาท หนังสือพิมพ์ลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของ ส. ว่ามีการทุจริตทำให้ทางราชการเสียหาย ส.จึงได้นำเรื่องไปแจ้งให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทราบ เป็นเหตุให้ ส. กับโจทก์และพวกถูกตั้งกรรมการสอบสวนฐานนำความลับของทางราชการไปเปิดเผย และได้กล่าวพาดพิงถึงจำเลยด้วย จำเลยจึงให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวหนังสือพิมพ์ว่ามีข้าราชการเสนอให้ปลดโจทก์เพราะมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงถือว่าเป็นการพูดชี้แจงข่าวให้เหตุผลที่จำเลยไม่สามารถปกป้องโจทก์ได้โดยสุจริตใจ เพื่อป้องกันตนและส่วนได้เสียของตนที่ถูก ส.พูดพาดพิงถึง เป็นวิสัยของปกติชนย่อมกระทำได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(1)(3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2532เวลากลางวัน จำเลยใส่ความโจทก์ต่อนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชนและไทยรัฐรายวัน เพื่อให้นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ลงพิมพ์โฆษณาและหนังสือดังกล่าวได้พิมพ์โฆษณาแล้วว่า อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองพัสดุและอุปกรณ์การศึกษานำความลับของราชการเรื่องทุจริตเครื่องกลึงไปเปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวและทีวี นำความลับของราชการในการจัดซื้ออุปกรณ์ส่งเสริมการสอนไปเปิดเผย และเคยมีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการหลายคนเสนอให้ปลดโจทก์ออกจากราชการอันเป็นเท็จทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังเหตุเกิดทั่วราชอาณาจักรและที่แขวงบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียนกรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84, 326,328, 332 และขอให้ยึดหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและไทยรัฐรายวันฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2532 ทำลายเสียกับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและไทยรัฐรายวันรวม 3 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84, 326, 328, 332 แต่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก6 เดือน และปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกรอไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 กับให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันและไทยรัฐรายวันเป็นเวลา 1 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ส่วนคำขอให้ยึดหนังสือพิมพ์นั้นเมื่อหนังสือพิมพ์ดังกล่าวกระจายไปทั่วประเทศแล้วจึงไม่อาจยึดมาได้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่4 กันยายน 2532 จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อนักข่าวหนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐว่า อธิบดีกรมสามัญศึกษาได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่โจทก์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการกองพัสดุและอุปกรณ์การศึกษา นำความลับของราชการเรื่องทุจริตเครื่องกลึงไปเปิดเผยแก่ผู้สื่อข่าวและทีวี นำความลับของราชการในการจัดซื้ออุปกรณ์ส่งเสริมการสอนไปเปิดเผย และเคยมีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการหลายคนเสนอให้ปลดโจทก์ออกจากราชการในวันที่ 5 กันยายน 2532 หนังสือพิมพ์มติชนและหนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ตีพิมพ์คำสัมภาษณ์ของจำเลยดังกล่าว ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1และหมาย จ.2 ปัญหาจึงมีว่าการให้สัมภาษณ์ของจำเลยเป็นความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ ปัญหานี้ปรากฏว่าในวันที่ 4 กันยายน 2532หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ลงข่าวพาดพิงถึงจำเลยมีหัวเรื่องว่า”วิ่งวุ่นพบกรรมาธิการการศึกษาให้ความคุ้มครองทางกฎหมายสอบ5 ข้าราชการ กรมสามัญศึกษานำความลับให้ ส.ส. ยำ ศธ.” ซึ่งเนื้อหาของข่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ว่านายโกวิท วรพิพัฒน์ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ได้ลงนามในหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ข้าราชการสังกัดกองพัสดุและอุปกรณ์การศึกษากรมสามัญศึกษา 5 คน กรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในเรื่องนำความลับของทางราชการเกี่ยวกับการจัดซื้อรายการงานส่งเสริมการสอนของกรมสามัญศึกษาไปเปิดเผย ส.ส. เพื่อเปิดอภิปรายการปฏิบัติงานของกระทรวง ข้าราชการดังกล่าวได้แก่นายบุศรินทร์ปัทมาคม ผู้อำนวยการกองพัสดุและอุปกรณ์การศึกษา และ ฯลฯรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2532 นายสุวิทย์ เชยชมผู้ถูกสอบสวนนายหนึ่งได้ทำหนังสือถึงนายสมาน ใจปราณี รองโฆษกคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร ขอความคุ้มครอง หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่นายสมานได้ทราบเรื่องกรณีที่มีผู้ขายชุดส่งเสริมการสอนให้สำนักงานโครงการพิเศษกรมสามัญศึกษา ซึ่งตนและเพื่อนได้หลักฐานแน่ชัดว่า มีการขายของปลอมและราคาสูงจากราคาท้องตลาดอย่างมากทำให้ข้าราชการเสียหาย การที่ตนให้ข้อเท็จจริงเหล่านี้ไป ทำให้ต้องถูกสอบสวนทางวินัยฐานนำความลับไปให้แก่ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ส่งผลให้ได้รับความทุกข์แสนสาหัสซึ่งอาจถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงถึงขั้นถูกออกจากทางราชการหนังสือฉบับนี้ระบุอีกว่าพวกตนได้จัดทำรายงานเรื่องนี้ต่อพลเอกมานะ รัตนโกเศศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบุคคลทั้งสองได้ให้กำลังใจ โดยกล่าวว่าเป็นผู้กล้าหาญเสียสละและกระทำการถูกต้องพร้อมกันนั้นได้รับปากจะให้ความคุ้มครองดูแลปูนบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษ แต่จนถึงขณะนี้ตนและเพื่อนต้องถูกสอบวินัยเรื่องดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีมูลเหตุที่จะสอบสวนได้ เพราะเป็นผู้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบของข้าราชการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาและต่อคณะกรรมการการศึกษาฉะนั้นเมื่อไม่ได้รับรองคุ้มครองป้องกันสิทธิและบังคับตามกฎหมายอันชอบ จึงขอให้คณะกรรมาธิการการศึกษาให้ความคุ้มครองตามกฎหมายในกรณีนี้ด้วย ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.21 ในวันที่4 กันยายน 2532 จำเลยได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์มติชนและไทยรัฐ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ศาลฎีกาพิจารณาโดยตลอดแล้ว เห็นว่าเป็นการชี้แจงข่าวที่พาดพิงถึงจำเลย จำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำเพื่อป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามทำนองคลองธรรมได้ ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าคำให้สัมภาษณ์ของจำเลยที่ว่า มีข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการหลายคนเสนอเรื่องขอให้ปลด นายบุศรินทร์ ปัทมาคม เพราะมีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงประมาณ 5 คดีด้วยกัน นายชัยภักดิ์และผู้ใหญ่กระทรวงศึกษาธิการหลายคนเห็นด้วยให้ปลดนายบุศรินทร์ ปัทมาคมเผยก่อนหน้านั้นจะให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอยู่แล้ว แล้วไม่ได้เป็นและว่านายบุศรินทร์ไม่เลิกลา ฯลฯ นั้นเป็นคำให้สัมภาษณ์ที่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริตและไม่เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามทำนองคลองธรรมนั้น เห็นว่าคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นคำให้สัมภาษณ์ชี้แจงข่าวให้เหตุผล ที่จำเลยไม่สามารถปกป้องโจทก์ได้โดยสุจริตใจ เพื่อป้องกันตน และส่วนได้เสียของตนที่ถูกนายสุวิทย์ให้สัมภาษณ์พาดพิงถึง เป็นวิสัยของปกติชนย่อมกระทำได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)(3) ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน