คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6233/2554

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ส. และจำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และจำเลยที่ 4 ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรถยนต์คันเกิดเหตุ รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นตัวการของ ส. และจำเลยที่ 3 โดยยินยอมให้ ส. และจำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องจึงเป็นการขอให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ส. ตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นตัวการ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่โจทก์ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้รับมรดกของนายสมนึก ผู้ทำละเมิดโจทก์ และขณะถึงแก่ความตาย นายสมนึกเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4740 พิจิตร และเป็นหุ้นส่วนกับจำเลยที่ 3 ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่ง ในขณะทำละเมิดได้กระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 หรือตามที่จำเลยที่ 3 มอบหมาย หรือในฐานะหุ้นส่วนร่วมกันกับจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุก ทั้งเป็นตัวการของนายสมนึก และนำรถยนต์บรรทุกดังกล่าวประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 ขณะเกิดเหตุละเมิด โดยได้ให้นายสมนึกในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 3 หรือตามที่จำเลยที่ 3 มอบหมายหรือในฐานะหุ้นส่วนร่วมกับจำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกดังกล่าวประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4740 พิจิตร และได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ และเป็นตัวการของนายสมนึกและจำเลยที่ 3 โดยยินยอมให้นายสมนึกและจำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 4 หรือในนามของจำเลยที่ 4 ในขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2543 เวลาประมาณ 18.22 นาฬิกา รถไฟดีเซลรางขบวนที่ 6 ซึ่งเป็นรถไฟโดยสารแล่นระหว่างจังหวัดพิษณุโลกปลายทางกรุงเทพมหานคร ขณะทำขบวนแล่นในเส้นทางสายเหนือก่อนถึงถนนตัดผ่านทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้นถนนบริเวณย่านสถานีรถไฟวังกรด ด้านใต้ หลักกิโลเมตรที่ 339+171.30 พนักงานขับรถไฟของโจทก์ได้เปิดหวีดเตือนเป็นระยะๆ เพื่อเตือนผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะที่จะขับผ่านทางรถไฟดังกล่าวให้ทราบว่ากำลังจะมีขบวนรถไฟแล่นผ่านทาง ขณะนั้นนายสมนึกได้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4740 พิจิตร มาถึงถนนตัดผ่านทางรถไฟดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 โดยไม่ลดความเร็วและหยุดรถยนต์ตามป้ายหยุดอันเป็นป้ายจราจรประเภทบังคับให้อยู่ห่างรถไฟไม่น้อยกว่า 5 เมตรและคอยจนกว่ารถไฟแล่นผ่านพ้นไปเสียก่อนแล้วจึงขับรถยนต์ผ่านไปได้ แต่นายสมนึกได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวข้ามทางรถไฟไปทันทีขณะที่รถไฟของโจทก์กำลังจะแล่นผ่านทางตอนนั้นจึงเกิดการเฉี่ยวชนกันขึ้นเป็นเหตุให้รถดีเซลรางชำรุดตกรางได้รับความเสียหายแล่นต่อไปไม่ได้ หลังเกิดเหตุพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูรธรอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ดำเนินคดีนายสมนึกในข้อหาขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายสาหัส แต่นายสมนึกได้ถึงแก่ความตายจึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง การกระทำดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องซ่อมรถดีเซลรางคันพิพาท ซ่อมรางรถไฟที่ได้รับความเสียหาย เสียค่าใช้จ่ายในการนำรถช่วยอันตรายจากสถานีรถไฟอุตรดิตถ์ และสถานีรถไฟบางซื่อมายกรถที่ตกราง ค่าเสียหายที่ขบวนรถไฟไม่สามารถแล่นผ่านไปมาเป็นเหตุให้ขบวนรถสินค้าล่าช้าและเสียหาย ขบวนรถไฟโดยสารล่าช้าและงดเดินหลายขบวน ค่าจ้างรถยนต์ขนถ่ายผู้โดยสารที่มากับขบวนรถไฟ ค่าจ้างขนถ่ายสินค้า อุปกรณ์อาณัติสัญญาณชำรุดเสียหาย รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 20,225,605.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 21,742,525.93 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย 21,742,525.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,225,605.52 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ขณะเกิดเหตุไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและใช้รถยนต์บรรทุกเนื่องจากนายสมนึก นำรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปใช้ในประโยชน์ของตนนอกเวลางานที่จำเลยที่ 3 และนายสมนึกรับจ้าง โดยเมื่อนายสมนึกขับรถรับจ้างถมดินให้แก่จำเลยที่ 3 จนหมดเวลางานแล้ว นายสมนึกกลับนำรถยนต์ไปบรรทุกทรายเพื่อนำไปขายให้แก่ชาวบ้านที่มาจ้างนายสมนึกเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด ขณะเกิดเหตุรถไฟคันพิพาทแล่นด้วยความเร็วเกินอัตรา โดยไม่ได้เปิดหวีดสัญญาเมื่อถึงทางรถไฟที่มีทางรถยนต์ตัดผ่าน และโจทก์ไม่สร้างสิ่งกีดขวางปิดกั้นเมื่อรถไฟจะมาถึง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ทั้งไม่ชะลอความเร็วรถลงเมื่อผ่านย่านชุมชน เหตุรถชนดังกล่าวจึงเกิดความประมาทของโจทก์และพนักงานโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ความจริงแล้วโจทก์เสียหายไม่ถึง 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกคันพิพาท แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 มิใช่ผู้ครอบครองและใช้รถยนต์ดังกล่าวและมิได้เป็นตัวการของจำเลยที่ 3 กับนายสมนึกขณะเกิดเหตุรถยนต์ดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 กับนายสมนึก โดยจำเลยที่ 3 เช่ารถยนต์ดังกล่าวไปจากจำเลยที่ 4 เพื่อประกอบกิจการของจำเลยที่ 3 เป็นการส่วนตัว มิได้นำมาแล่นขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 จึงไม่ใช่ตัวการของจำเลยที่ 3 และนายสมนึกจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของพนักงานขับรถของโจทก์ที่ขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตรากำหนดเมื่อถึงทางแยกที่มีถนนตัดผ่านและไม่ชะลอความเร็วรถลง มิได้เปิดหวีดเตือน ทั้งโจทก์ไม่ได้สร้างสิ่งปิดกั้นหรือสัญญาเตือนให้ผู้ขับขี่ในเส้นทางของรถยนต์ทราบว่ามีรถไฟกำลังแล่นมาให้หยุดรถเสียก่อนจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนอกจากนี้ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงกว่าความเป็นจริง โดยโจทก์เสียหายไม่เกิน 1,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะทายาทของนายสมนึก และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 20,225,605.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ตน กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระเงินจำนวน 20,225,605.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ กับให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายสมนึกขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-4740 พิจิตรกับรถไฟของโจทก์ โดยความประมาทเลินเล่อของนายสมนึก เป็นเหตุให้นายสมนึกถึงแก่ความตายและโจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 4 มีชื่อเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าว และเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปประกอบกิจการขนส่งตามคำขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลและใบอนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดของนายสมนึกร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยหรือไม่ โดยจำเลยที่ 4 ฎีกาว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 3 เช่าและใช้รถยนต์เพื่อประกอบกิจการส่วนตัวของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 ตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย ป.ล.1 ของศาลแพ่ง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 ให้การยอมรับว่า ขณะเกิดเหตุนายสมนึกนำรถยนต์คันดังกล่าวไปบรรทุกทรายเพียงแต่อ้างว่าเป็นการกระทำส่วนตัวของนายสมนึกเองโดยไม่ปรากฏว่านายสมนึกและจำเลยที่ 3 มีใบอนุญาตให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปประกอบการขนส่งแต่อย่างใด คงมีแต่จำเลยที่ 4 เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปประกอบการขนส่งตามเอกสารหมาย จ.11 และ จ.12 ทั้งจำเลยที่ 4 ก็เบิกความว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 3 จะมีใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามกฎหมายหรือไม่ ประกอบกับเมื่อพิจารณาตามคำขออนุญาตประกอบการขนส่งส่วนบุคคลเอกสารหมาย จ.11 ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 4 จะต้องกระทำการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของตนเอง สถานที่เก็บ ซ่อมและบำรุงรักษารถก็ต้องเป็นที่อยู่ของจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 ยังได้ให้คำรับรองต่อนายทะเบียนตามข้อ 8 ด้วยว่าจะใช้รถสำหรับขนส่งสินค้าในกิจการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่ 4 เท่านั้น โดยจะไม่นำรถหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถไปทำการรับจ้างขนสินค้าหรือบุคคลแต่ประการใดและให้สัญญาว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในใบอนุญาตประกอบการขนตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และระเบียบข้อบังคับกรมการขนส่งทางบกทุกประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางราชการไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 4 นำเอารถยนต์คันเกิดเหตุไปใช้สำหรับการขนส่งสินค้าในกิจการค้าหรือธุรกิจของบุคคลอื่นได้ อีกทั้งจำเลยที่ 4 ก็เป็นผู้เสียภาษีรถประจำปีต่อทางราชการเองตลอดมา นอกจากนี้หากจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 3 เช่ารถไปประกอบการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนย่อมเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 23 วรรคแรก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาตามมาตรา 126 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับจึงไม่น่าเชื่อว่านายสมนึกและจำเลยที่ 3 จะนำรถไปประกอบการขนส่งของตนเองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง ส่วนสัญญาเช่าเอกสารหมาย ป.ล.1 ของศาลแพ่ง คงมีแต่จำเลยที่ 4 เบิกความว่าให้จำเลยที่ 3 เช่ารถไปเท่านั้น โดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้นำจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่สัญญาและผู้ที่รู้เห็นเกี่ยวข้องที่ได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาเช่ามาเป็นพยานเบิกความยืนยันสนับสนุนให้เห็นว่ามีการทำสัญญาเช่ารถกันจริง โดยสัญญาเช่าดังกล่าวอยู่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 4 เพียงฝ่ายเดียวย่อมเป็นการง่ายที่จะมีการจัดทำขึ้นในภายหลังเพื่อนำมาใช้อ้างเป็นหลักฐานแสดงต่อศาล ข้ออ้างว่าได้ทำสัญญาเช่าของจำเลยที่ 4 จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่า นายสมนึกและจำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 และถือได้ว่าขณะกระทำละเมิดนายสมนึกเป็นตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดในฐานะตัวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ต่อไปมีว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ในฐานะนายจ้างตัวการตัวแทนของนายสมนึกให้ร่วมรับผิดกับนายสมนึกในการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ประกอบการขนส่ง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้รับผิดดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่านายสมนึกและจำเลยที่ 3 ประกอบการขนส่งในนามของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองและเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-4740 พิจิตร และจำเลยที่ 4 ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ประกอบการขนส่งส่วนบุคคลรถยนต์คันเกิดเหตุ รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นตัวการของนายสมนึกและจำเลยที่ 3 โดยยินยอมให้นายสมนึกและจำเลยที่ 3 นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวประกอบการขนส่งร่วมกับจำเลยที่ 4 ตามคำฟ้องจึงเป็นการขอให้จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่นายสมนึกตัวแทนกระทำการตามคำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นตัวการ จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share