แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีหน้าที่ควบคุมการทำไม้โดยเป็นผู้ควบคุมการตัดฟันไม้และตีตราประจำตัวชักลากไม้ในบริเวณที่จะสร้างเขื่อน จำเลยได้ควบคุมการทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยทำไม้ที่อยู่นอกเขตการสร้างเขื่อนซึ่งจำเลยได้รับอนุญาตให้ทำและเป็นผู้สั่งให้ชักลากไม้ออกจากป่ามา กอง รวมไว้ที่ริมทางและตีตราชักลากไม้ประจำตัวของตนบนท่อนไม้ที่ชักลากออกมาแล้วเพื่อลวงเจ้าพนักงานให้เห็นว่าเป็นไม้ที่ได้ทำอยู่ในเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำไม้และเป็นไม้ที่ได้ทำโดยถูกต้องตามกฎหมายพฤติการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยต้องเป็นผู้ครอบครองหรือร่วมกับบุคคลอื่นครอบครองไม้ของกลางไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดฐานมีไม้ท่อนยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกระทำผิดกฎหมายหลายกรรมกล่าวคือ จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันทำไม้โดยการตัด ฟัน โค่นทอน เลื่อยไม้ทั้งหมด 46 ท่อน ปริมาตร 129.61 ลูกบาศก์เมตรคิดค่าภาคหลวง 5,073.30 บาท ซึ่งไม้ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ตามที่ระบุไว้ในบัญชีที่ 6 ท้ายพระราชกฤษฎีกาอันดับที่ 9, 30, 52, 61, 62, 64,154 ตามลำดับ จำเลยทั้งสองกับพวกทำไม้ดังกล่าวในเขตป่าคลองแสงตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นป่าบริเวณกำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2517 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และทางราชการได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอที่ทำการกำนันและที่สาธารณสถาน ในท้องที่ที่เกี่ยวข้องและในท้องที่เกิดเหตุให้ประชาชนทราบทั่วกันและจำเลยทั้งสองทราบประกาศแล้ว โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันมีไม้ดังกล่าวข้างต้น 46 ท่อน ซึ่งยังมิได้แปรรูปปริมาตร 129.61 ลูกบาศก์เมตร คิดค่าภาคหลวง 5,073.30 บาทไว้ในครอบครองโดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย หรือรอยตราอื่นใดที่ประทับไว้ถูกต้องตามกฎหมายและจำเลยทั้งสองพิสูจน์ไม่ได้ว่า ไม้ดังกล่าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานยึดไม้จำนวนดังกล่าว ที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้ทำและมีไว้เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 11, 69,73, 74 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17, 18พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามพ.ศ. 2505 มาตรา 4 พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าพ.ศ. 2517 ลงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2517 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 24, 44 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติ ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 11 วรรคแรก, 73วรรคสอง พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17, 18พระราชบัญญัติ ป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 7 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 9 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 4 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 24, 44 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษบทหนักตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด4 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายศาลอุทธรณ์จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 69 วรรคสอง อีกกระทงหนึ่งให้จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด4 ปี เมื่อรวมกับโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปีแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจากการนำสืบของโจทก์จำเลยที่ 2 และไม่มีฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ได้รับอนุญาตให้ทำไม้ในบริเวณโครงการเขื่อนเชี่ยวหลานที่เกิดเหตุเฉพาะบริเวณที่น้ำท่วมถึงโดยตัดไม้ตามที่เจ้าพนักงานป่าไม้ตีตรา และทำบัญชีอนุญาตไว้ แล้วให้พนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เป็นผู้ตีตราชักลาก โดยใช้ตราประจำตัวของพนักงานแทนตราชักลากของเจ้าพนักงานป่าไม้ จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มีหน้าที่ควบคุมการทำไม้ในที่เกิดเหตุโดยใช้ตราประจำตัว อ.153 ตีชักลากไม้ได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการตัดฟันไม้ของกลางและตีตราประจำตัวดังกล่าวชักลากไม้ ป่าคลองแสงตำบลตะกุกเหนือ อำเภอคีรีรัฐนิคม และตำบลเขาพัง ตำบลไกรสรกิ่งอำเภอบ้านตาขุน (อำเภอบ้านตาขุน) จังหวัดสุราษฎร์ธานีถูกกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พ.ศ. 2517 เอกสารหมาย จ.1 ไม้กะบากหรือตะบากไม้ไข่เขียว หรือขมิ้นดำ ไม้เสียดช่อหรือชุมแพรก ไม้ตะเคียนทองหรือตะเคียนใหญ่ ไม้ตะเคียนทรายหรือตะเคียนซอย ไม้ตะเคียนหินหรือเหลาเตา ไม้ยางนาหรือยางแดงหรือยางอื่น ๆ ในป่าท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามและได้คัดสำเนาปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ต่าง ๆที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายแล้ว สำหรับข้อหาฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยที่ 2 ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนข้อหามีไม้ของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมการทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยทำไม้ที่อยู่นอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำ เป็นผู้สั่งให้ชักลากไม้ออกจากป่ามากองรวมไว้ที่ริมทางและตีตราชักลากไม้ประจำตัวของตนบนท่อนไม้ที่ชักลากออกมาแล้วเพื่อลวงเจ้าพนักงานให้เห็นว่าเป็นไม้ที่ทำอยู่ในเขตที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำไม้ และเป็นไม้ที่ทำโดยถูกต้องตามกฎหมายพฤติการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องเป็นผู้ครอบครองหรือร่วมกับบุคคลอื่นครอบครองไม้ของกลางไว้โดยไม่ได้รับอนุญาตที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหามีไม้หวงห้ามของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.