คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6228/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ข้อ 1 มีข้อความว่า “ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว” ข้อ 2 มีข้อความว่า “ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้เรียบร้อยแล้ว” ดังนี้เห็นได้ว่า หนี้ตามสัญญาได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนไขให้จำเลยต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนที่แบ่งแยกเป็นของจำเลยได้ก่อนตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง
ก่อนฟ้องโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องมีข้อตกลงต่อกันไว้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 161,866.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 160,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2546 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง และผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ แต่ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทุกข้อล้วนเป็นข้อกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามคำร้องของจำเลย จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ แต่เมื่อไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกา จึงไม่จำต้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ 160,000 บาท ตกลงว่าจะชำระเงินโดยไม่มีดอกเบี้ยคืนโจทก์ภายในระยะเวลาที่จำเลยขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร เฉพาะส่วนที่เป็นมรดกตกแก่จำเลยได้เรียบร้อยแล้ว ที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกของนางพร้อมซึ่งเป็นมารดาของโจทก์และจำเลย ภายหลังที่จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์แล้ว ศาลฎีกามีคำพิพากษาตั้งโจทก์ จำเลย และนายบุญเหลือเป็นผู้จัดการมรดกของนางพร้อมร่วมกัน และก่อนที่โจทก์จะฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีเป็นคดีหมายเลขดำที่ 595/2546 ขอให้บังคับจำเลยนำโฉนดที่ดินไปดำเนินการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวร่วมกับโจทก์ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์จะฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้เงินโดยจำเลยยังมิได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า สัญญากู้เงินที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ข้อ 1 มีข้อความว่า “ผู้กู้ตกลงกู้และผู้ให้กู้ตกลงให้กู้เงินจำนวนทั้งสิ้น 160,000 บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นบาทถ้วน) และในวันนี้ผู้กู้ได้รับเงินสดจำนวนดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว” ข้อ 2 มีข้อความว่า “ผู้กู้ตกลงส่งมอบเงินกู้ตามสัญญาในข้อ 1 โดยไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ภายในระยะเวลาที่ผู้กู้ได้ขายที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกเฉพาะส่วนของผู้กู้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5027 เลขที่ดิน 329 หน้าสำรวจที่ 943 ตำบลบางแค (บางเชือกหนังฝั่งใต้) อำเภอภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตามจำนวนที่ดินที่แบ่งแยกโดยประมาณ 4 ไร่ เรียบร้อยแล้ว” ดังนี้เห็นได้ว่า หนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วตามสัญญาข้อ 1 ส่วนสัญญาข้อ 2 เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้อันเป็นเงื่อนเวลาเริ่มต้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 191 วรรคหนึ่ง แต่การกำหนดเวลาชำระหนี้โดยมีเงื่อนไขให้จำเลยต้องขายที่ดินเฉพาะส่วนที่แบ่งแยกเป็นของจำเลยได้ก่อนตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าว ไม่เป็นการแน่ชัดว่าเมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินเสร็จสิ้นแล้วจำเลยจะสามารถขายที่ดินได้หรือไม่ หรือจะขายที่ดินนั้นได้เมื่อใดเพราะเป็นเหตุการณ์ในอนาคตที่มิใช่ว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่แท้ กำหนดเวลาชำระหนี้โดยการกำหนดเงื่อนไขไว้เช่นนี้จึงไม่แน่นอน ผลเท่ากับเป็นหนี้ที่มิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้โดยพลันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง กรณีเป็นเรื่องที่คู่สัญญากำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ไม่แน่นอน หาใช่เป็นการตีความให้ลูกหนี้ต้องเสียเปรียบดังที่จำเลยอ้างไม่ ดังนั้น แม้โจทก์และจำเลยจะยังมิได้แบ่งแยกที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดก และจำเลยยังมิได้ขายที่ดินส่วนที่เป็นมรดกของจำเลยก็ตาม โจทก์ก็ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้เงินได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมาในฎีกา ข้อเท็จจริงและรูปคดีไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลย เนื่องจากสัญญากู้เงินไม่มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยนั้น เห็นว่า เมื่อได้ความว่าก่อนฟ้องโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการคิดดอกเบี้ยโดยผลของกฎหมาย ไม่จำต้องมีข้อตกลงต่อกันไว้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share