คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6087/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ มาตรา 4 วรรคหนึ่งหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าข้อตกลงนั้นเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบบริโภค หรือคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อสัญญาค้ำประกันกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตราดังกล่าว จึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงมิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม แม้อุทธรณ์ข้อนี้จะมิได้เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ฯ อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสองประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,098,972 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 2 แถลงสละข้อต่อสู้ตามคำให้การในส่วนที่ว่าลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์ในใบแต่งทนายความเป็นลายมือชื่อปลอมและตราประทับไม่ใช่ตราประทับของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,028,286 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2546 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547) ต้องไม่เกิน 70,686 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องส่วนที่แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และการยักยอกเงินค่าสินค้าว่าเกิดในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ตรวจสอบการขายในการค้าของโจทก์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 พบว่าจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตเก็บเงินค่าสินค้าหลายรายแล้วไม่นำเงินมาส่งให้แก่โจทก์กลับทุจริตยักยอกเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตนเอง จึงขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระเงินดังกล่าวคืนแก่โจทก์ และส่งเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้และรายละเอียดการเก็บเงินค่าสินค้าของจำเลยที่ 1 คำฟ้องโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น เมื่ออ่านคำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องประกอบกันแล้วจำเลยที่ 2 ย่อมเข้าใจและสามารถต่อสู้คดีได้ จึงไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางไม่ได้หยิบยกข้อที่จำเลยที่ 2 ให้การในคำให้การข้อ 3 ว่า การยักยอกเงินค่าสินค้าและการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำขึ้นในระหว่างจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์หรือไม่ขึ้นวินิจฉัย เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดกับคำเบิกความของพยานบุคคล ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1 หลังจากสัญญาจ้างสิ้นสุดลงนั้น เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ข้อ 3 ต่อสู้เพียงว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า การยักยอกเงินและการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้กระทำขึ้นในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์หรือไม่ ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่สามารถให้การต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ คำฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุมเท่านั้น และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปแล้วว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โดยจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ว่า การยักยอกค่าสินค้าและการรับสภาพหนี้มิได้กระทำในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อสุดท้ายที่ว่า จำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าเอาเปรียบจำเลยที่ 2 โดยทำสัญญาค้ำประกันกำหนดสาระสำคัญไว้ล่วงหน้าให้จำเลยที่ 2 ต้องยอมสละสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 มารับผิดในลำดับเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคสาม (2) และมาตรา 10 (1) ชอบที่ศาลฎีกาจะพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดเพียง 200,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยที่ 2 จะมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง แต่เป็นปัญหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพหรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” ดังนั้น การจะพิจารณาว่าข้อตกลงในสัญญาหรือในสัญญาสำเร็จรูปนั้นเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าเป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปหรือผู้ซื้อฝากนั้นได้เปรียบผู้บริโภคหรือคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรหรือไม่ และในมาตรา 4 วรรคสาม ได้กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อพิจารณาสัญญาค้ำประกัน ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในสัญญาค้ำประกันไว้ 5 ข้อ โดยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้หนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อน อันเป็นการกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 ซึ่งตามมาตรา 691 กำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ย่อมไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 และมาตรา 690 การที่ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิตามมาตรา 688 มาตรา 689 มาตรา 690 มาตรา 691 ดังกล่าวจึงมิใช่การรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด มิได้เป็นผลให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติประเพณีของสัญญาค้ำประกันแต่อย่างใด การกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามกฎหมายจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม อุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share