คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หลังจากที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทกับโจทก์แล้วโจทก์ได้โอนเงินจำนวนตามสัญญากู้ยืมเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยแล้วนำไปหักกับดอกเบี้ยเงินกู้รายอื่นที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ ถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยแล้ว สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 650 วรรคสอง
มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเกิดจากการที่โจทก์กับจำเลยแสดงเจตนาก่อนิติสัมพันธ์ในระหว่างกันขึ้นใหม่ โดยไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์อยู่ในขณะนั้น แม้จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นแก่โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ตามสัญญากู้ยืมเงิน และเป็นหนี้เงินที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินกู้ยืมจึงไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 45,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีและยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่โจทก์เห็นสมควรแต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนภายในวันสุดท้ายของเดือน จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 17 มีนาคม 2538 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้วในขณะทำสัญญา โดยมีจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 และยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14756 ถึง 14824 รวม 27 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้เงินกู้และหนี้ใด ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ ทั้งที่มีอยู่แล้วในเวลาจำนองและที่จะมีต่อไปในภายหน้าในวงเงิน45,000,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อสัญญาว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน ต่อมาโจทก์ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นร้อยละ13 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 และอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 หลังจากที่จำเลยที่ 1 กู้เงินไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งห้าและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้าเป็นหนี้โจทก์ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นเงิน 45,000,000 บาท ดอกเบี้ย 5,158,354.31 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 50,158,354.31 บาท เมื่อคิดถึงวันฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์คิดเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 50,306,299.51 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 50,306,299.51 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของต้นเงิน 45,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2536 แต่ไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เนื่องจากโจทก์ใช้กรรมวิธียอกย้อนให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้และจำนองที่ดินไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์รายอื่น ดังนั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากหนี้เงินจำนวน 45,000,000 บาท อีกไม่ได้ เพราะเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย การฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชำระหนี้แก่โจทก์ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยจำนองโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,000,000บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2536 ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2536 อัตราร้อยละ 13 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2537 และอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 14756-14824 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีสำหรับจำเลยที่ 4 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ชำระหนี้แก่โจทก์นั้นจำเลยที่ 4 มิได้อุทธรณ์จึงเป็นอันถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่โจทก์นำมาฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า เดิมจำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของธนาคารโจทก์ ก่อนทำสัญญากู้ยืมเงินฉบับพิพาทจำเลยที่ 1 เคยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 414,000,000 บาท เพื่อลงทุนจัดสรรที่ดิน ต่อมาในปี 2536 โจทก์ตรวจสอบยอดหนี้ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเงินทั้งสิ้น 53,460,000 บาท ในวันที่ 17 มีนาคม 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 45,000,000 บาท เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยดังกล่าว โดยยอมเสียดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินครั้งนี้ในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด กำหนดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เป็นรายเดือนภายในวันสุดท้ายของเดือน จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยคืนแก่โจทก์ภายในวันที่ 17 มีนาคม 2538 แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 14756 ถึง 14824 รวม 27 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ดังกล่าวโดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีข้อสัญญาว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยที่ 1 ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบจำนวน ตามสัญญากู้ยืมเงินสัญญาค้ำประกันสัญญาจำนองที่ดินและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.13 วันที่ 7 เมษายน 2536 โจทก์โอนเงินจำนวน 45,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เพื่อหักกับดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง กล่าวคือระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2536 ถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2536 คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ถึงวันที่ 20 มกราคม 2537 อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี และนับแต่วันที่ 21 มกราคม 2537 เป็นต้นมา อัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากโจทก์ในครั้งนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระหนี้แก่โจทก์เลย โจทก์เคยมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยทั้งห้าให้ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยทั้งห้าได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 กับโจทก์แล้ว โจทก์ได้โอนเงินจำนวน 45,000,000 บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้วนำไปหักกับดอกเบี้ยเงินกู้รายอื่นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ถอนเงินจำนวน 45,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แต่การที่โจทก์จัดให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ตามสัญญากู้ยืมเงินฉบับอื่นย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบเงินกู้จำนวน 45,000,000 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว สัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2536 เอกสารหมาย จ.6 ย่อมบริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 650 วรรคสอง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ที่อ้างว่า โจทก์หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและจำนองที่ดินเป็นประกัน โดยมิได้ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่จำเลยที่ 1 จึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า การที่จำเลยที่ 1กู้ยืมเงินจำนวน 45,000,000 บาท จากโจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมายจ.6 เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยเงินกู้รายอื่นที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์มีผลเท่ากับเป็นการเอาดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นมาเป็นต้นเงินตามสัญญากู้ยืมเงินในคดีนี้ ดังนั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำนวนเงิน 45,000,000บาท อีกไม่ได้ เพราะมีผลเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง นั้น เห็นว่า มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 เกิดจากการที่โจทก์กับจำเลยที่ 1แสดงเจตนาก่อนนิติสัมพันธ์ในระหว่างกันขึ้นใหม่โดยไม่เกี่ยวข้องกับมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ในขณะนั้น ดังนี้แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำนวน 45,000,000 บาทจากโจทก์ เพื่อนำไปชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินรายอื่นแก่โจทก์ก็ไม่ทำให้มูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินในคดีนี้เป็นหนี้ค่าดอกเบี้ยดังที่จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา แต่ต้องถือว่าจำนวนหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.6 เป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นใหม่ตามสัญญากู้ยืมเงินและเป็นหนี้เงินที่โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากต้นเงิน 45,000,000 บาท ไม่เป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา

อนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่า การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งห้าชำระหนี้ก่อนครบกำหนดเวลาชำระหนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์คิดคำนวณดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2537ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2537 คลาดเคลื่อนไปจากความจริง และโจทก์ไม่ได้นำนายบริบูรณ์ อรชุนะกะ ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มิได้ยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

พิพากษายืน

Share