คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องและแผนที่พิพาทไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งแปดร่วมกันละเมิดในที่ดินของโจทก์ ปรากฏแต่เพียงว่าจำเลยทั้งแปดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของโจทก์คนละส่วนต่างหากจากกัน ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคนละคดีได้ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งแปดเข้ามาเป็นคดีเดียวกันก็ตาม แต่การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์เท่าใดนั้นย่อมจะต้องถือตามราคาที่ดินที่จำเลยแต่ละคนต่างเข้าไปยึดถือครอบครอง มิใช่นับรวมกัน เมื่อที่ดินที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5ถึงที่ 8 ยึดถือครอบครองปรากฎว่ามีเนื้อที่ไม่ถึงคนละ 50 ไร่ คำนวณเป็นราคาไม่เกินคนละสองแสนบาท คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5ถึงที่ 8 แต่ละคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินคนละสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามมาตรา 248 วรรคแรก แห่ง ป.วิ.พ.
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และ ม. โดยโจทก์ที่ 3 ผู้จัดการมรดกของ ม. เป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาท แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ได้ครอบครองและแสดงเจตนาครอบครองที่พิพาทเป็นของตนเองมาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จำเลยทั้งเจ็ดจึงได้สิทธิครอบครอง โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท จำเลยทั้งเจ็ดเพิ่งแสดงเจตนายึดถือที่พิพาทเพื่อตนมาจนถึงวันฟ้องไม่เกิน1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องนั้น เป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ฎีกาโจทก์ที่ว่า การที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ที่ 1 และสามีเคยขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทเป็นการไม่ชอบ เพราะจำเลยมิได้ถามค้านพยานโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนั้น แม้จะเป็นข้อกฎหมายแต่โจทก์มิได้ยกเป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

Share