คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 32/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาลและศาลสั่งบังคับตามสัญญาประกันแล้วเมื่อมีคำอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยสั่งเป็นประการใดแล้วคำสั่งของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด ผู้ประกันจะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาประกันต่อไปอีกไม่ได้

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ประกันได้ทำสัญญาประกันจำเลยในระหว่างฎีกาเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2535 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลฎีกา โดยอ้างเหตุว่าจำเลยป่วยศาลชั้นต้นเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาไปวันที่ 3 กันยายน2535 เมื่อถึงกำหนดวันนัด ผู้ประกันและจำเลยไม่มาศาลศาลถือว่าผู้ประกันผิดสัญญาประกัน จึงมีคำสั่งให้ปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาและออกหมายจับจำเลยกับให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาไปวันที่ 12 ตุลาคม 2535 ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2535 ผู้ประกันได้นำเงินค่าปรับมาชำระเต็มตามสัญญาประกันแล้ว วันที่ 12ตุลาคม 2535 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาลับหลังจำเลยต่อมาผู้ประกันยื่นคำร้องว่าได้ติดตามตัวจำเลยนำมาส่งศาลแล้วขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 119 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4บัญญัติว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด”ดังนั้นผู้ประกันจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาประกันต่อมาอีกไม่ได้เพราะคดีย่อมถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกามานั้นไม่ชอบศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน

Share