คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6204/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานสรรพากรเลือกที่จะส่งหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่นทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งก็ได้ แต่การใช้วิธีปิดหมาย หนังสือแจ้ง หรือหนังสืออื่นหรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ตามวรรคสอง จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้
เจ้าพนักงานสรรพากรส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหนังสือแจ้งภาษีการค้าแก่จำเลยโดยวิธีปิดหนังสือแจ้ง แต่ไม่ปรากฏว่าไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งให้แก่จำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้ การที่โจทก์ส่งหนังสือแจ้งแก่จำเลยโดยปิดหนังสือจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งแล้วไม่ได้ จึงยังไม่เป็นหนี้เด็ดขาดและยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนที่โจทก์จะนำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับการร้องเรียนว่าจำเลยประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์หลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากร จึงดำเนินการออกหมายเรียกให้จำเลยมาให้ถ้อยคำและส่งมอบเอกสารเพื่อตรวจสอบตามประมวลรัษฎากร จำเลยยอมรับว่าจำเลยประกอบกิจการค้าอสังหาริมทรัพย์จริง เหตุที่มิได้ชำระภาษีให้ถูกต้องเนื่องจากไม่ทราบว่าต้องเสียภาษีและยื่นแบบแสดงรายการ จากการตรวจสอบหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ปรากฏว่าจำเลยนำที่ดินมาทำการปลูกสร้างตึกแถว อาคารพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายแล้วมิได้ชำระภาษีอากรให้ถูกต้อง โจทก์ออกหนังสือเตือนให้จำเลยส่งเอกสารมาให้ตรวจสอบตามหมายเรียกโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ จำเลยได้รับแล้วแต่มิได้มาพบหรือส่งมอบเอกสารหลักฐานมาให้ตรวจสอบแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่จึงได้ประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2531 เป็นเงินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม คำนวณถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2535 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,390,620 บาท ภาษีการค้าตั้งแต่เดือนกันยายนถึงธันวาคม 2531 พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม กับภาษีบำรุงเทศบาลเป็นเงินรวม 561,735 บาท รวมภาษีอากรที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น 3,952,355 บาท และได้ส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีดังกล่าวแก่จำเลย โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ส่งไม่ได้ เจ้าพนักงานไปรษณีย์แจ้งว่าไม่มีผู้รับ จากการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนบ้านปรากฏว่าจำเลยยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม จึงส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้แก่จำเลยใหม่ ส่งได้โดยวิธีปิดหนังสือแจ้งการประเมินไว้ที่ประตูบ้านด้านหน้า หลังจากจำเลยได้รับแจ้งการประเมินดังกล่าว จำเลยมิได้ชำระหนี้และมิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรดังกล่าวถือได้ว่าเป็นหนี้เด็ดขาดและอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ต่อมาเจ้าหน้าที่เร่งรัดภาษีอากรค้างของโจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ส่งได้ด้วยวิธีปิดหนังสือทวงถาม จำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์ยึดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยออกขายทอดตลาดได้เงินมาชำระหนี้จำนวน 11,262.80 บาท และเงินประกันการใช้โทรศัพท์ของจำเลยได้เงินมาชำระหนี้เพียง 2,621.84 บาท รวมทั้งอายัดเงินฝากบัญชีออมทรัพย์ที่จำเลยฝากไว้ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ได้เงินมาชำระหนี้จำนวน 436.37 บาท นอกจากนี้ไม่พบทรัพย์สินอื่นใดของจำเลยที่จะพึงยึดหรืออายัดมาชำระหนี้ได้อีก ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง การที่จำเลยขายที่ดินที่ได้รับมาจากการยกให้และใช้ประโยชน์ในที่ดินตลอดมาเป็นเวลาถึง 10 ปี แต่ขายออกไปเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารจึงไม่เข้าลักษณะการขายที่ดินเพื่อมุ่งค้าหรือหากำไร จำเลยไม่ต้องเสียภาษีการค้าและได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรอีกด้วย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินจากโจทก์ การส่งหนังสือแจ้งการประเมินเป็นการส่งที่ไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8 และตามสำเนาบันทึกการปิดหมาย ปรากฏว่ามีการส่งเฉพาะใบแจ้งการประเมินโดยมิได้ส่งคำแนะนำตามแบบแนบท้ายหนังสือให้ผู้เสียภาษี จึงไม่ชอบตามประมวลระเบียบงานตรวจสอบภาษี หนังสือที่ กค. 0810/3195 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2534 การประเมินภาษีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นหนี้ภาษีอากรที่ยังมีข้อโต้แย้งและไม่แน่นอน โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายไม่ได้ สิทธิเรียกร้องหนี้ค่าภาษีอากรค้างเริ่มนับแต่วันที่จำเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีหรือยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไม่ถูกต้องตั้งแต่ปี 2531 โจทก์เพิ่งยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2545 คดีจึงขาดอายุความแล้ว จำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน มิได้เป็นบุคคลผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว การส่งหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ได้มีการส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากรแก่จำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 จะเห็นได้ว่าในการส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีอากร สามารถเลือกกระทำได้ 2 วิธี คือ ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือเจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง เพื่อให้ทางเลือกในการปฏิบัติเพื่อความสะดวกและให้เกิดผลในทางปฏิบัติ มิใช่กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าเมื่อเลือกส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้วต้องถือว่ามิได้ส่งโดยเจ้าพนักงานสรรพากรดังที่จำเลยอ้าง คดีนี้โจทก์สามารถแสดงหลักฐานที่เจ้าพนักงานสรรพากรได้นำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีไปส่งแก่จำเลยโดยมีการปิดหนังสือแจ้งต่อศาลแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบ แม้โจทก์มิได้ส่งหลักฐานการส่งหนังสือแจ้งการประเมินทางไปรษณีย์ตอบรับต่อศาลก็ยังถือได้ว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินตามกฎหมายแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 8 บัญญัติว่า “หมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่นซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับหรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือในเวลาทำการของบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่หรือทำงานในบ้านหรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้
กรณีไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้หรือบุคคลนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ใช้วิธีปิดหมาย หนังสือแจ้งหรือหนังสืออื่นแล้วแต่กรณี ในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่ หรือสำนักงานของบุคคลนั้นหรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นก็ได้
เมื่อได้ปฏิบัติตามวิธีดังกล่าวข้างต้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นอันได้รับแล้ว”
ตามบทบัญญัติดังกล่าวในวรรคหนึ่ง ให้เลือกที่จะส่งหมายเรียก หนังสือแจ้งให้เสียภาษีอากร หรือหนังสืออื่น ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้เจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งก็ได้ แต่การใช้วิธีปิดหมาย หนังสือแจ้ง หรือหนังสืออื่น หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ตามวรรคสอง จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เจ้าพนักงานสรรพากรส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 12) และหนังสือแจ้งภาษีการค้า (ภ.ค. 80) ตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 แก่จำเลยโดยวิธีปิดหนังสือแจ้ง ตามบันทึกการปิดหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.9 แต่โจทก์มีเพียงนางอรพิน ศรีนุต เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ประเมินภาษีอากรรายนี้เป็นพยานให้ถ้อยคำและเบิกความว่า ในชั้นแรกส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าแก่จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แต่ไม่มีผู้รับและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่ได้ส่งหลักฐานการแจ้งเหตุขัดข้องนำจ่ายผู้รับไม่ได้ต่อศาล เพราะไม่ใช่สาระสำคัญ ความสำคัญอยู่ที่บันทึกการปิดหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.9 เพราะกรณีเจ้าพนักงานสรรพากรนำไปส่งด้วยตนเอง เมื่อไม่พบผู้รับก็ใช้วิธีปิดหนังสือได้ นอกจากคำเบิกความของพยานดังกล่าวแสดงถึงความลังเลไม่หนักแน่นแล้วพยานนี้ยังเบิกความตอบคำถามค้านว่า ตามระเบียบการปิดหมายต้องมีการแจ้งความก่อนหรือพาเจ้าพนักงานตำรวจไปด้วย ซึ่งกรณีของจำเลยก็ได้มีการแจ้งความไว้แล้ว และพยานปากนี้ยังเบิกความตอบคำถามติงว่า ก่อนที่จะไปปิดหนังสือแจ้งการประเมินจะต้องขออนุมัติต่อสรรพากรจังหวัดก่อน แสดงว่า การปิดหมาย หนังสือแจ้งหรือหนังสืออื่นตามมาตรา 8 วรรคสอง เจ้าพนักงานสรรพากรผู้นำไปส่งยังไม่อาจปิดหมายในการนำไปส่งครั้งแรกได้ทันที เมื่อโจทก์มิได้ส่งหลักฐานการส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าแก่จำเลยทางไปรษณีย์ตอบรับที่แสดงถึงเหตุที่ส่งไม่ได้ รวมทั้งมิได้ส่งหลักฐานแจ้งความหรือการขออนุมัติปิดหนังสือแจ้งดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนคำเบิกความของนางอรพิน ทั้ง ๆ ที่เป็นเอกสารที่โจทก์ย่อมมีอยู่และสามารถส่งศาลได้โดยง่ายกลับไม่นำส่ง จึงเป็นข้อพิรุธ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะให้เชื่อได้ว่าไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าให้แก่จำเลยตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ได้ การที่โจทก์ส่งหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าแก่จำเลยโดยวิธีปิดหนังสืองจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จะถือว่าจำเลยได้รับหนังสือแจ้งตามเอกสารหมาย จ.7 และ จ. 8 แล้วไม่ได้ หนี้ภาษีอากรจำนวน 3,952,355 บาท ตามหนังสือแจ้งเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 จึงยังไม่เป็นหนี้เด็ดขาดและยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนที่โจทก์จะนำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share