คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3819/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเช่าทรัพย์สินมิใช่การโอนทรัพย์สิน กรณีจึงไม่อาจอ้างบทบัญญัติมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินทำการประเมินราคาทรัพย์สินในกรณีโอนทรัพย์สินซึ่งไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด มาทำการประเมินค่าเช่าที่โจทก์ให้เช่าทรัพย์สินของตนได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ประกอบการให้เช่าอาคารห้างสรรพสินค้า ได้นำค่าเช่าที่ได้รับมาถือเป็นรายได้ แต่แสดงรายได้ต่ำไปกว่าการประเมินค่ารายปีของกรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงได้ทำการปรับปรุงคำนวณภาษีใหม่ การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้องเฉพาะรายได้เกี่ยวกับค่าเช่าอาคารตามฟ้อง โดยให้ถือรายรับตามที่โจทก์ให้เช่าจริงในใบเสร็จรับเงินมาคำนวณเป็นรายได้ ส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเลยไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายนั้นให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า เห็นว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่พิพาทกันนั้นเป็นกรณีที่พิพาทกันก่อนวันที่ 1 มกราคม2522 ซึ่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 5)มาตรา 15 ใช้บังคับและบทบัญญัติในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4)ที่ใช้บังคับอยู่ในระหว่างที่มีกรณีพิพาทนั้นบัญญัติว่า “ในกรณีโอนทรัพย์สินใด ๆ ซึ่งไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนแต่ต่ำกว่าราคาตลาด เจ้าพนักงานประเมินราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนได้” ในบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีความให้แปลไปได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าเช่าที่เห็นว่าต่ำไปโดยใช้ราคาตลาดได้ เพราะการเช่านั้นมิใช่การโอนทรัพย์สิน อำนาจในการประเมินของเจ้าพนักงานนั้นจะมีได้ก็ตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับปีภาษีที่จะมีการแจ้งการประเมิน และกรณีมิใช่เรื่องที่โจทก์ลงรายรับต่ำกว่าที่รับจริง เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจที่จะกำหนดค่าเช่าขึ้นใหม่ให้เป็นรายได้พึงประเมินได้ เพราะไม่มีบทกฎหมายที่จะให้เจ้าพนักงานกระทำได้ในขณะนั้น การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน

Share