คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6523/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ความผิดฐานยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 87 เป็นการกระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ถึงแม้โจทก์จะได้รับความเสียหายเนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ แต่พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้กำหนดกระบวนการที่จะแก้ไขความเสียหายไว้แล้วว่าในกรณีที่อนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ บุคคลที่กล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตร หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้นได้ ตามมาตรา 65 นว ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการพิสูจน์สิทธิของอนุสิทธิบัตรซึ่งโจทก์ก็ได้ดำเนินการฟ้องจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 จำเลยกระทำความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 หลายกรรมต่างกัน โดยจำเลยไปยื่นคำขอแสดงถึงการประดิษฐ์/การออกแบบผลิตภัณฑ์ประเภทหัวเข็มขัด โดยจำเลยยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ได้ไปซึ่งอนุสิทธิบัตรจำนวน 2 ครั้ง คือ ตามคำขอเลขที่ 0103000378 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 และ ตามคำขอเลขที่ 010300379 ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 ซึ่งคำขอดังกล่าวเป็นความเท็จเนื่องจากหัวเข็มขัดและเข็มขัด ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่จำเลยยื่นคำขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกิดจากการคิดค้นของจำเลย แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เคยถูกเปิดเผยสาระสำคัญเป็นที่แพร่หลายมาก่อนวันที่จำเลยยื่นคำขอ ทั้งในและต่างประเทศมานานแล้วโดยในประเทศไทยได้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงงาน ว.พรสิน และบริษัทในเครือ และบริษัทอื่น ๆ อีกหลายบริษัทได้ใช้วิทยาการแบบผลิตภัณฑ์ที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้คิดค้นมาตั้งแต่ก่อนปี 2542 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้หลงเชื่อตามคำขอ และคำกล่าวอ้างอันเป็นเท็จของจำเลย จึงได้ออกอนุสิทธิบัตรให้แก่จำเลย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2545 เหตุเกิดที่เลขที่ 44/100 หมู่ที่ 1 ถนนสนามบินน้ำ ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2547 เวลากลางวัน จำเลยได้นำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ว่า โจทก์ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีกลไกลักษณะทางเทคนิคที่สำคัญและหน้าที่การทำงานตามอนุสิทธิบัตรของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรจากการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกขาย มีไว้เพื่อขาย และเสนอขาย โดยโจทก์รู้อยู่แล้วว่า การกระทำของโจทก์เป็นการละเมิดสิทธิของจำเลย ผู้ทรงอนุสิทธิบัตรแล้วจำเลยได้นำเจ้าหน้าที่ตำรวจ สศก. ไปตรวจค้นสถานที่ตั้งของโจทก์ และยึดสินค้าประเภทหัวเข็มขัดของโจทก์ การแจ้งดังกล่าวเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตร หรือปรับปรุงประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรม แต่เป็นการนำเอาเทคนิค และกลไกที่แพร่หลายอยู่แล้ว ไปยื่นคำขอจดอนุสิทธิบัตรโดยเจตนาทุจริต การแจ้งความเท็จดังกล่าวเพื่อกลั่นแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญา และฐานละเมิดอนุสิทธิบัตร เหตุเกิดที่สำนักงานกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ถนนสาทรเหนือ แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และบ้านเลขที่ 17/637 หมู่ที่ 7 ซอยวงแหวนชัชวาล ถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 172, 174 วรรคท้าย, 267 พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 87
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายโดยไม่ได้ระบุว่าอุทธรณ์ข้อใดของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจอุทธรณ์ของโจทก์แล้วปรากฏว่าโจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหายื่นขอรับอนุสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ไปซึ่งอนุสิทธิบัตร เห็นว่า ความผิดฐานยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ไปซึ่งอนุสิทธิบัตรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 87 เป็นการกระทำความผิดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้น เฉพาะพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้นที่จะเป็นผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ถึงแม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ แต่ในกรณีเช่นนี้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้กำหนดกระบวนการที่จะแก้ไขความเสียหายไว้แล้วว่า ในกรณีที่อนุสิทธิบัตรไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ หรือไม่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม บุคคลที่กล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตร หรือบุคคลที่มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการอาจฟ้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนอนุสิทธินั้นได้ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 นว ซึ่งถือเป็นกระบวนการในการพิสูจน์สิทธิของอนุสิทธิบัตรซึ่งโจทก์ก็ได้ดำเนินการฟ้องจำเลยนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share