แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินก่อน จึงจะมีคำสั่งในเรื่องขอคืนของกลางได้
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และริบรถยนต์ของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน2542 โจทก์ไม่อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 ก่อนที่จะมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางจึงมิชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องใช้สิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดแล้วมีคำพิพากษากลับให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ทั้งที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยมิได้พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงมิชอบเช่นกัน และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เหตุที่จะพิจารณาคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางย่อมสิ้นไป ศาลฎีกาจึงไม่พิจารณาคำร้องของผู้ร้อง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 4, 6, 9, 14,31, 35 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11,69, 73, 74, 74 ทวิ และริบรถยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า รถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิ รุ่นสตราด้าสีเทา ไม่มีเลขทะเบียนของกลางเป็นทรัพย์สินของผู้ร้อง ผู้ร้องให้บุคคลอื่นเช่าซื้อรถยนต์ของกลางและยินยอมให้ผู้เช่าซื้อนำไปให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อช่วงต่อไป ผู้ร้องมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่ ขอให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยทั้งสี่นำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิด นอกจากนี้ผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เช่าซื้อชำระราคารถยนต์ได้ตามสัญญาเช่าซื้อผู้ร้องจึงไม่ได้รับความเสียหายการยื่นคำร้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า กรณีขอคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 กฎหมายวางหลักไว้ว่า ศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินก่อนจึงจะมีคำสั่งในเรื่องของกลางได้แต่คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484นั้น ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 30 กันยายน2542 โจทก์ไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2542 ก่อนที่จะมีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางจึงมิชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าผู้ร้องใช้สิทธิขอคืนรถยนต์ของกลางเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่แล้วมีคำพิพากษากลับให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 ทั้งที่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยกฟ้องโดยมิได้พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมิชอบเช่นกัน และแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่โจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตามที่โจทก์ฎีกาแต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว เหตุที่จะพิจารณาคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องย่อมสิ้นไปศาลฎีกาจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางของผู้ร้องอีกต่อไป”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นและยกคำร้องของผู้ร้อง