แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การฟ้องเรียกทรัพย์มรดก ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ที่ห้ามสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 80 ตารางวา การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 งาน ตามที่โจทก์ที่ 1ปลูกสร้างบ้านอยู่และพิพากษายกฟ้องโจทก์คนอื่น จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งที่ดินไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอตามคำฟ้อง แต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 จึงให้โจทก์ที่ 1ได้รับส่วนแบ่งในที่ดินส่วนที่ปลูกสร้างบ้าน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่ จำเลยและนางอรอนงค์ ถาวรซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วเป็นบุตรของนายเล็กกับนางสำลี ม่วงงามนายเล็กเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางห้อย อ่องอร่ามและทั้งสามได้รับที่ดินมาจากบิดามารดา จำนวน 1 แปลง คือ ที่ดินที่นางห้อยแจ้งการครอบครองไว้เมื่อปี 2498 ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 20 โดยนางห้อยครอบครองเป็นเจ้าของทางด้านทิศตะวันออก เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 60 ตารางวา ส่วนนายเล็กครอบครองเป็นเจ้าของทางด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 80 ตารางวา ในปี 2513 นางห้อยยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง จากนั้นนางห้อยต้องการแบ่งแยกที่ดินส่วนของนายเล็กให้แก่นายเล็ก แต่เนื่องจากนายเล็กป่วยไม่สามารถไปดำเนินการได้จึงมอบให้จำเลยไปลงชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่นางห้อยแบ่งแยกให้แทน ต่อมานายเล็กถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2515 ส่วนนางสำลีภริยาของนายเล็กถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2527 ก่อนตายนางเล็กไม่ได้ทำพินัยกรรม หรือยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นมรดกตกทอดแก่บุตรของนายเล็กทุกคนเท่า ๆ กัน เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 จำเลยยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงคนเดียวโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงคัดค้าน จำเลยจึงยกเลิกคำขอแบ่งให้ดังกล่าวและจะแบ่งกันใหม่ แต่ในที่สุดจำเลยก็ไม่ยอมแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ตำบลป่างิ้ว อำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทองเป็นมรดกของนายเล็ก ม่วงงาม และให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ คนละ 1 ใน 6 ส่วน หรือคนละ 80 ตารางวา หากไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและหากแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด มีเพียงโจทก์ที่ 1 เท่านั้นที่จำเลยให้อาศัยอยู่ในที่ดินเพียงบางส่วน อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยจดทะเบียนรับโอนที่ดินมาก็ยึดถือครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ดังนั้นหากโจทก์มีสิทธิอย่างใดก็ชอบก็จะฟ้องเอาคืนภายใน 1 ปี นับแต่จำเลยเข้ายึดถือครอบครอง ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยถึงแก่ความตาย นายอนุสิทธิ์ วิจิตรสุนทรบุตรจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเฉพาะส่วนของโจทก์ที่ 3ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ตำบลป่างิ้วอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในส่วนที่ครอบครองจำนวน 2 งาน หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนคำขอที่ว่าหากแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันนั้น เมื่อให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาแล้วจึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตามคำส่วนนี้ ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 4
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยมีว่าตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ระบุว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนางห้อย ต่อมาได้ยกให้แก่จำเลย การที่โจทก์ที่ 1 นำสืบพยานบุคคลว่าที่พิพาทบางส่วนเป็นของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการนำสืบพยานบุคคลหักล้างพยานเอกสารนั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการมิชอบและเมื่อจำเลยฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) และมาตรา 247 และเห็นว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94เป็นบทบัญญัติห้ามเฉพาะการนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารในกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงเท่านั้น คดีนี้เป็นการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง การนำสืบของโจทก์ที่ 1 ว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงหาใช่การนำสืบหักล้างพยานเอกสารแต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอเรียกที่ดินคนละ 1 ใน 6 ส่วน หรือ 80 ตารางวา แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 ได้รับที่ดินพิพาทตามจำนวนที่โจทก์ที่ 1ครอบครองจำนวน2 งาน อันเป็นจำนวนที่เกินกว่าที่โจทก์ขอ จึงย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่นั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอในคำฟ้องจึงเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อคดีนี้มีปัญหาที่ศาลฎีกาเห็นสมควรพิจารณาเองโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2วินิจฉัยอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัยด้วย เห็นว่า คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ที่ 1 ได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 งาน ก็ตาม แต่ฝ่ายโจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ทั้งสี่คนละ 80 ตารางวา การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 2 งานจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 กรณีสมควรกำหนดให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอตามคำฟ้องแต่เพื่อมิให้เป็นการเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ซึ่งปลูกสร้างบ้านอาศัยอยู่จึงให้โจทก์ที่ 1 ที่ได้รับส่วนแบ่งในส่วนที่ปลูกสร้างบ้าน”
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 48 หมู่ที่ 5 ตำบลป่างิ้วอำเภอเมืองอ่างทอง จังหวัดอ่างทอง ให้แก่โจทก์ที่ 1 ในส่วนที่โจทก์ที่ 1 ครอบครองปลูกสร้างบ้านจำนวน 80 ตารางวา หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ส่วนคำขอที่ว่าหากแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันนั้น เมื่อให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตามคำขอส่วนนี้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 และที่ 4