แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อที่ดินพิพาทได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามสำหรับใช้ในราชการทหารพร้อมด้วยแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบแล้ว ทั้งต่อมากรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุด้วย ดังนั้น ย่อมถือว่าประชาชนทุกคนได้ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปยึดถือครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่มีเจตนาเข้าไปยึดถือครอบครองในที่ดินพิพาทอันเป็นที่ห้วงห้ามได้ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๓ , ๔ , ๕ , ๗ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙ , ๑๐๘ , ๑๐๘ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ , ๙๑ และสั่งให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครอง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต ๒ รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต ๒ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอให้จำเลยทั้งสองกับบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครอง
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จากพยานหลักฐานของโจทก์แสดงให้เห็นชัดว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินหวงห้ามของกองทัพเรือ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๘ ถึงผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบขออนุญาตประกอบการอุตสาหกรรมต่อเรือ ซ่อมเรือและตัดเรือในพื้นที่ตำบลแสมสาร เมื่อผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบไม่อนุญาตแล้ว จำเลยทั้งสองยังเข้าไปดำเนินการปรับไถที่ดินพิพาทบริเวณเชิงเขาเนิน ๕๒ ด้านทิศใต้ของเขาล้านและบริเวณใกล้เคียงด้านเหนือของเนิน ๕๒ ก่อสร้างแท่นคอนกรีตสำหรับประดิษฐานพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์บนยอดเนิน ๕๒ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำผิดทางอาญาไม่ได้ เห็นว่า เมื่อที่ดินพิพาทได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตหวงห้ามสำหรับใช้ในราชการทหารพร้อมด้วยแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ ให้ประชาชนทราบแล้ว ทั้งต่อมากรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุด้วย ดังนี้ ย่อมถือว่าประชาชนทุกคนได้ทราบแล้วว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินหวงห้ามมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าไปยึดถือครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ แม้ที่ดินพิพาทจะมีแบบแจ้งการครอบครอง ส.ค. ๑ อีกทั้งก่อนที่จำเลยที่ ๒ จะซื้อที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๒ พันเอกวัชระ มัยลาภ และนายสุชาติ โภคศิริ จะได้มีหนังสือสอบถามไปยังที่ว่าการอำเภอสัตหีบ ซึ่งนายอำเภอสัตหีบมีหนังสือแจ้งว่าสามารถโอนสิทธิได้ นอกจากนี้หลังจากซื้อที่ดินพิพาทมาแล้ว จำเลยทั้งสองได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาก็ตาม แต่แบบแจ้งการครอบครอง ส.ค. ๑ หนังสือของนายอำเภอสัตหีบ และการเสียภาษีบำรุงท้องที่ก็มิใช่การอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงอ้างไม่ได้ว่าผู้เข้ายึดถือครอบครองในที่ดินพิพาทไม่มีเจตนาเข้าไปในที่ดินพิพาทอันเป็นที่หวงห้ามได้ จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากพลอากาศโทอุสาห์ ชัยนาม เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ ภายหลังพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยทั้งสองรู้อยู่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่หวงห้าม จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตปลอดภัยในราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๕ , ๗ (๓) ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๙ (๑) , ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๙ (๑) , ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ให้ปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๔,๐๐๐ บาท ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้จำคุก ๖ เดือน และปรับ ๔,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ ให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากเขตปลอดภัยในราชการทหารที่จำเลยทั้งสองยึดถือครอบครอง.