คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 545/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้าราชการได้รับบัญชีพลเพื่อให้ไปกรอกข้อความเอาเองเมื่อกรอกข้อความเท็จลงไปก็ย่อมไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือแต่อาจเป็นเรื่องจดข้อความเท็จตามมาตรา 230 หรือยักยอกลายมือชื่อตามมาตรา 315 ได้
การลงนามในหนังสือราชการนั้นเมื่อลงนามแทนผู้อื่นโดยมีอำนาจแล้วแม้จะไม่ระบุข้อความว่าลงนามแทนกัน ก็ย่อมไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเสมียนแผนกสรรพากรประจำกิ่งอำเภอพาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ จะเดินทางไปราชการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา จำเลยได้รับบัญชีพล ซึ่งเป็นหนังสือสำคัญในราชการหมายอักษร ม.เลขที่ ๑๖๐๑๑๖ ให้จำเลยใช้ต่างตั๋วโดยสารรถไฟจากสถานีพาชีถึงสถานีอยุธยา เมื่อจำเลยรับบัญชีพอแล้วจำเลยกับนายพยัพ รัตนกรี เสมียนสถานีรถไฟพาชีได้บังอาจสมคบกันปลอมหนังสือโดยจดข้อความเท็จ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จลงในบัญชีพลช่องถึงสถานีว่า “หาดใหญ่” และในช่องหมายเหตุต่อท้ายคำว่า “สำหรับนายอุทัยและครอบครัว ๕ คนโยกย้ายไปรับหน้าที่ ณ จังหวัดสงขลา ๑. นางเชื่อม ภรรยา ๒. นางเทียน ภรรยา ๓. นางปุ๋ย น้องสาว ๔. นายเกิดบิดา ๕. นางสายหยุดมารดา ” กับจดคำว่า ” หก” ซึ่งเป็นความเท็จลงในช่องไม่แต่งเครื่องแบบจำนวนอีก ๒ แห่ง ทั้งนี้โดยจำเลยลงชื่อเป็นผู้อำนวยการเดินทาง นายพายัพ รัตนกรีที่ยังหลบหนีอยู่ ลงชื่อเป็นนายสถานีรถไฟ ข้อความที่จำเลยจดลงในบัญชีพลเป็นข้อความเท็จ และจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ โดยจำเลยตั้งใจจะให้เป็นหนังสือสำคัญในราชการ แล้วจำเลยเอาบัญชีพล ซึ่งจำเลยสมคบกันปลอมขึ้นไปใช้ โดยจำเลยมอบให้นางปุ๋ยและผู้มีชื่อนำไปใช้ โดยใช้โดยสารรถไฟต่างตั๋วโดยสาร ทั้งนี้อาจเกิดความเสียหายแก่สาธารณะชน กรมมหาดไทย และกรมรถไฟได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม. ลักษณะอาญามาตรา ๒๒๒,๒๒๓,๒๒๔,๒๒๕,๒๒๗
ศาลชั้นต้นสั่งฟ้องว่า คำบรรยายฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมหนังสือ แต่ตามฟ้องได้ความแล้วว่า จำเลยรับบัญชีพลแล้วไปตรอกข้อความเอาเอง ซึ่งข้อความนั้นมิได้ปลอมแปลงข้อความอันเป็นจริงเพียงใดเลย จำเลยไม่ควรมีผิดดังฟ้อง ฟ้องของโจทก์ไม่มีมูลฐานนี้ ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ประทับรับฟ้องของโจทก์ ไว้ดำเนินการพิจารณาต่อไป
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ฟ้องในคดีนี้ พอแยกได้ คือตอนที่กล่าวว่าจำเลยลงชือเป็นผู้อำนวยการเดินทางกับนายพายัพ รัตนกรี ลงชือเป็นนายสถานีรถไฟตอนหนึ่ง สำหรับตอนนี้โจทก์เป็นแต่กล่าวมาลอย ๆ มิได้กล่าวข้อความอันแสดงว่า มุ่งประสงค์จะหาว่าจำเลยปลอมลายมือชื่อเจ้าพนักงานในบัญชีพล อีกประการหนึ่งจำเลยและนายพายัพจะมีอำนาจลงชือเป็นผู้อำนวยการการเดินทางเป็นนายสถานีรถไฟหรือไม่ มิได้กล่าว จึงไม่อาจรู้ได้ว่า ที่มีการลงชื่อเช่นนั้นจะเป็นการลงชื่อในทางปลอมหนังสือหรือไม่ เพราะตามปกติระเบียบราชการนั้นอาจมีการมอบหมายให้ผู้อื่นลงนามแทนได้ และเมื่อมีการลงนามแทนไปโดยมีอำนาจ แม้จะไม่ระบุข้อความว่าลงนามแทนกัน ก็ย่อมไม่ถึงกับเป็นผิดฐานปลอมหนังสือ ฉะนั้นฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงว่ามุ่งประสงค์จะหาว่าจำเลยและนายพายัพปลอมลายมือชื่อลงในบัญชีพล แต่หากมุ่งประสงค์ไปในทางที่หาว่าจำเลยจดข้อความเท็จอื่น ๆ ลงในบัญขีพล ซึ่งโจกท์อ้างว่าจำเลยปลอมหนังสือนั้นมากกว่า ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับข้อกล่าวหาในตอนนี้ในฟ้องของโจกท์มิได้ระบุว่าจำเลยได้รับบัญชีพลให้ใช้ต่างตั๋วรถไฟแล้ว จำเลยจดข้อความเท็จลงในบัญชีพลนั้น ฟ้องเช่นนี้ย่อมแสดงให้เข้าใจไปได้ว่า จำเลยได้รับบัญชีพลเพื่อให้กรอกข้อความเอาเอง ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีที่จำเลยได้รับบัญชีให้ไปกรอกข้อความเอาเองเช่นว่านี้แล้ว เมื่อจำเลยกรอกข้อความเท็จลงไป ก็ย่อมไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ แต่อาจเป็นเรื่องจดข้อความเท็จตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓๐ หรือยักยอกลายมือชื่อตามมาตรา ๓๑๕ แต่โจทก์มิได้บรรยายหรือกล่าวหาจำเลยในความผิดเช่นว่านี้ เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำอันแสดงให้เห็นเป็นความผิดฐานปลอมหนังสือแล้ว ก็ย่อมไม่เป็นฟ้องอันถูกต้องตามกฎหมาย
จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ยืนตามศาลชั้นต้น

Share