คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8717/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดหรือ ลูกจ้างกระทำความผิดแต่เป็นความผิดเพียงเล็กน้อย ยังไม่สมควรที่จะเลิกจ้างหรือไม่มีเหตุอันสมควรอื่นใดที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ประเด็นแห่งคดีเรื่องนี้ ศาลต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุสมควรที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์จะเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หรือไม่ ศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์พยาน หลักฐานต่าง ๆ ทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการนำรถเข้าไปในบริเวณอู่นำอะไหล่เก่าขึ้นรถบรรทุกก่อนผ่านการตรวจสอบอนุมัติ การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยขาดความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต กรณีมีเหตุผลอันสมควรที่จำเลยจะ เลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหาย ๒,๗๖๓,๙๓๕.๘๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า เหตุที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ เนื่องจากโจทก์ประพฤติผิดข้อบังคับ จงใจขัดคำสั่ง ละเลยไม่นำพาตามคำสั่งของนายจ้างเป็นอาจิณ ทุจริตต่อหน้าที่เป็นการกระทำผิดร้ายแรง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็น การเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มีฐานะเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ แม้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่ต้องร่วมรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นหัวหน้างานฝ่ายประสานงานและปฏิบัติการ มีผู้ใต้บังคับบัญชา ประมาณ ๙๐ คน โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการเบิกจ่ายอะไหล่ รับผิดชอบตรวจสอบการนำอะไหล่เก่าไปคืนศูนย์บริการกลาง จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงสุดของศูนย์บริการลุมพินีได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าว่า ลูกค้าได้นำรถยนต์เบนซ์ ไปเปลี่ยนอะไหล่ในระหว่างประกัน แต่ศูนย์บริการไม่ได้เปลี่ยนอะไหล่ใหม่ให้ โดยมีการทุจริตยักยอกอะไหล่ และมีพนักงานร้องเรียนว่ามีการทุจริตยักยอกอะไหล่เก่าที่ส่งไปเปลี่ยนที่ศูนย์บริการกลาง จึงต้องทำการตรวจสอบ ปรากฏว่าเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ได้มีการขนอะไหล่เก่าเพื่อไปส่งศูนย์บริการกลาง โดย ส. ซึ่งเป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ว่าจ้างรถบรรทุกเข้าไปในบริเวณอู่เพื่อขนอะไหล่โดยฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ กล่าวคือ พบว่าบัญชีอะไหล่ที่ทำขึ้นยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบตามระเบียบ แต่ได้นำอะไหล่ขนใส่รถบรรทุกแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงให้ระงับการส่งอะไหล่ในวันนั้น และยังปรากฏว่ารถบรรทุกที่ว่าจ้างมาขนอะไหล่เป็นรถของผู้ที่เคยเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ มาก่อน แต่ถูกเลิกจ้างฐานทุจริตต่อหน้าที่ นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังมีคำสั่งห้ามนำรถเข้าไปจอดในบริเวณ อู่เพื่อป้องกันการขนทรัพย์สินออกนอกอู่โดยทุจริต แต่โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งโดยอ้างว่านำรถเข้าไปซ่อมและจ่ายเงินค่าซ่อมตามระเบียบ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานหรือใบเสร็จค่าซ่อมมาแสดง ฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำรถยนต์ของตนเข้าไปในบริเวณอู่ของจำเลยที่ ๑ เพื่อซ่อมโดยสุจริตตามที่อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ในฐานะ ที่โจทก์เป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ส. แต่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการนำรถเข้าไปในบริเวณอู่ นำอะไหล่เก่าขึ้นรถบรรทุกก่อนผ่านการตรวจสอบอนุมัติ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ขาดความไว้วางใจ ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูง ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและจำเป็น เมื่อพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้จำเลยที่ ๑ ขาดความไว้วางใจในตัวโจทก์ การที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์จึงถือไม่ได้ว่าเป็น การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจากจำเลยทั้งสอง พิพากษา ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยคดีนอกคำฟ้องและคำให้การเพราะโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม โดยการใช้ตำแหน่งหน้าที่ร่วมกับ พนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาทุจริตเครื่องอะไหล่ที่จะนำไปเรียกค่าสินไหมทดแทน และกระทำการฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แต่โจทก์ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหาจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้กระทำผิดต่อหน้าที่โดยนำอะไหล่ออกจากศูนย์บริการและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายอันเป็นกรณีร้ายแรง แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของจำเลยที่ ๑ จนเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ขาดความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตของโจทก์ ซึ่งไม่ปรากฏในคำฟ้องและคำให้การนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดหรือลูกจ้างกระทำความผิดแต่เป็น ความผิดเพียงเล็กน้อย ยังไม่สมควรที่จะเลิกจ้างหรือไม่มีเหตุอันสมควรอื่นใดที่นายจ้างจะเลิกจ้างลูกจ้างได้ ดังนั้น ประเด็นแห่งคดีเรื่องเลิกจ้างไม่เป็นธรรมกรณีนี้นั้น ศาลต้องพิเคราะห์ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ว่า กรณีมีเหตุสมควรที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างโจทก์จะเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้หรือไม่ คดีนี้ศาลแรงงานกลางได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ปล่อยปละละเลยให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบว่าด้วยการนำรถเข้าไปในบริเวณอู่ นำอะไหล่เก่าขึ้นรถบรรทุกก่อนผ่านการตรวจสอบอนุมัติ การกระทำของโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ขาดความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริต กรณีมีเหตุอัน สมควรที่จำเลยที่ ๑ จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงเป็นการวินิจฉัยตามประเด็นแห่งคดีใน คำฟ้องและคำให้การแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share