แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากตัวความในคดีอาญาให้ใช้สิทธิอุทธรณ์,ฎีกาได้นั้น ย่อมมีอำนาจลงชื่อในฟ้องอุทธรณ์แทนตัวความได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยฟังคำพิพากษาแล้วได้หลบหนีเรือจำไป แล้วทนายจำเลยจึงได้ทำฟ้องอุทธรณ์ลงชื่อทนายในอุทธรณ์ แทนจำเลย นำไปยืนต่อศาลภายในกำหนดอายุความอุทธรณ์ดังนี้ ย่อมถือเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยวิธีพิจารณา และเมื่อภายหลังจำเลยได้ถูกจับตัวมาแล้วศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิจารณาพิพากษาคดีไปได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๔๙๓ ว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๓๐๐ ให้จำคุกจำเลย ๕ ปี
วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๓ ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ในวันเดียวกันนั้น พัศดีเรือนจำรายงานว่า จำเลยหลบหนีเรือนจำไปแต่เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๔๙๓ ยังจับตัวไม่ได้ ต่อมาวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๙๖ ตำรวจจับจำเลยได้อัยการโจทก์จึงยื่นคำร้องขอหให้รายงานศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาต่อไป จำเลยก็ยื่นคำร้องว่า จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยต่อไป
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยหลบหนีไปเสียก่อน ทนายจำเลยเพิ่งมานำเอาอุทธรณ์ที่ทนายเซ็นเป็นผู้อุทธรณ์เองมายื่นภายหลัง อุทธรณ์ฉบับนี้จึงใช้ไม่ได้ตามกฎหมาย จึงยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์นั้นเสีย ไม่รับไว้พิจารณา
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ทนายจำเลยลงชื่อในอุทธรณ์แทนจำเลยได้ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๒๔๓/๒๔๙๒,๔๑/๒๔๙๓, อุทธรณ์ของทนายจำเลยในเรื่องนี้จึงชอบด้วยวิธีพิจารณา แม้จะปรากฎในภายหลังต่อมาว่าจำเลยได้หลบหนีไปเสียก่อนวันที่ทนายยื่นอุทธรณ์ ก็ไม่เป็นเหตุกระทำให้อุทธรณ์นั้นกลับเสียไป และปรากฎว่าบัดนี้ได้ตัวจำเลยมาเพื่อพิจารณาคดีตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๗๒ แล้ว
จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อได้พิจารณาต่อไป