คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5700/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การก่อสร้างกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำในอาคารของโจทก์กับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศของโจทก์ซึ่งอยู่ถัดไปเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้รื้อถอนกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนออกไปด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนดังกล่าวจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารและก่อกำแพงของจำเลยเป็นการขัดขวางรบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์ และเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกำหนดจากส่วนหนึ่งของคำฟ้องและคำให้การที่คู่ความโต้แย้งกันว่า การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ด้วยว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย การก่อสร้างกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
โจทก์ต่อเติมอาคารตึกแถวในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินของโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมาก ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วย อากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวจึงถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย การที่จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันมากับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8298/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นจำเลยแต่คดีดังกล่าวถึงที่สุดโดยคู่ความมิได้อุทธรณ์ คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11521 พร้อมอาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 จำเลยเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 737/83 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7805, 11255 และ 11256 ซึ่งปลูกอยู่จากบริเวณด้านหลังของอาคารตึกแถวของโจทก์ประมาณ 10 เมตร ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2539 ถึงเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบุกรุกเข้าถมทางระบายน้ำ ซึ่งระบายน้ำออกไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะที่เจ้าของเดิมจัดให้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2510 และใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดมา จำเลยต่อเติมบ้านหลายห้องเพื่อให้ผู้อื่นเช่า โดยต่อเติมชิดกับอาคารตึกแถวของโจทก์ห่างไม่เกิน 2 เมตร ยาวตลอดแนวอาคาร และไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานเขตบางพลัด กับได้ต่อเติมรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เป็นทางเดินและท่อระบายน้ำหลังอาคารตึกแถวของโจทก์เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขัดขวาง รบกวนการใช้ประโยชน์ของโจทก์ จำเลยก่ออิฐเป็นกำแพงสูงเท่ากับอาคารตึกแถวของโจทก์บนที่ดินและท่อระบายน้ำชิดกับอาคารตึกแถวของโจทก์ ปิดกั้นทางเดินด้านหลัง ทำให้พัดลมระบายอากาศไม่สามารถใช้การได้ ช่องระบายอากาศถูกปิดกั้น บังแสงแดด และทิศทางลม เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายไว้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งแห่งทรัพย์มาประกอบเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนกำแพงที่สร้างไว้บนทางเดินและทางระบายน้ำด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์ กว้าง 2 เมตร ยาวตลอดแนวอาคาร เนื้อที่ 5 ตารางวา กำแพงสูงประมาณ 5 เมตร ที่ปิดบังทางระบายอากาศและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี และให้น้ำไหลไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนกำแพงดังกล่าวได้ โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา
จำเลยให้การว่า เดิมอาคารตึกแถวเลขที่ 737/76 ถึง 737/82 รวม 7 คูหา ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินแปลงเดียวกัน ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมแบ่งแยกออกเป็นแปลงๆ เพื่อปลูกสร้างอาคารตึกแถวขาย เมื่อแบ่งแยกแล้วโจทก์ได้กรรมสิทธิ์อาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 11251 เนื้อที่ 12 ตารางวา โดยการซื้อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2525 ด้านหลังของอาคารตึกแถวของโจทก์ดังกล่าวเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 7805, 11255, 11256 และ 9719 ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2533 ที่ดินดังกล่าวทั้งสี่แปลงพร้อมอาคารเลขที่ 737/83 และ 737/84 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซึ่งอาคารนี้อยู่ด้านหลังของอาคารตึกแถวเลขที่ 737/76 ถึง 737/82 อาคารตึกแถวดังกล่าวซึ่งรวมทั้งอาคารของจำเลยมีที่ดินว่างเป็นทางหนีไฟกว้างประมาณ 2 เมตร และที่ดินว่างดังกล่าวจะมีที่บำบัดน้ำเสียประมาณ 1 เมตร ไม่มีทางระบายน้ำสู่ทางระบายน้ำสาธารณะตามฟ้อง ก่อนที่อาคารตึกแถวเลขที่ 737/81 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์มีการต่อเติมอาคารดังกล่าวที่ด้านหลังซึ่งเป็นบริเวณที่ว่างและเป็นทางหนีไฟดังกล่าวจนชิดกับแนวเขตที่ดินของจำเลย จำเลยต่อเติมอาคารห่างจากแนวเขตที่ดินของโจทก์ประมาณ 60 เซนติเมตร และห่างจากตัวอาคารของโจทก์ประมาณ 2.60 เมตร การก่อสร้างอาคารของจำเลยไม่ได้รุกล้ำเข้าไปถมทางระบายน้ำ ไม่ได้ทำให้พัดลมระบายอากาศและช่องระบายอากาศใช้ไม่ได้ โจทก์ต่อเติมอาคารชิดแนวเขตที่ดินของจำเลยโดยผิดต่อข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จำเลยก่ออิฐเป็นกำแพงในที่ดินของจำเลยติดกับแนวเขตที่ดินของโจทก์สูงประมาณ 2 เมตร ไม่ทำให้พัดลมระบายอากาศของโจทก์ใช้ไม่ได้ ไม่ได้บดบังแสงแดดและทิศทางลม โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนตามฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดบังช่องลมในห้องน้ำ และส่วนที่ปิดบังพัดลมไล่อากาศออก หากไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อกำแพงเฉพาะส่วนดังกล่าวได้ โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายและให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำพิพากษา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อปี 2525 โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11251 ตำบลบางพลัด (บ้านปูน) อำเภอบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารตึกแถว 2 ชั้น เลขที่ 737/81 ซึ่งมีการก่อสร้างต่อเติมทางด้านหลังออกไปเป็นห้องครัวและห้องน้ำมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศออกไปทางด้านหลัง บริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ดินและอาคารเลขที่ 737/83 ที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์มาเมื่อปี 2533 ครั้นปี 2539 ถึงปี 2540 จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทกั้นระหว่างอาคารตึกแถวของโจทก์กับอาคารของจำเลย กำแพงพิพาทชิดด้านหลังอาคารตึกแถวของโจทก์โดยมีความสูงประมาณ 2.50 เมตร อยู่ในระดับเดียวกับชั้นล่างของอาคารตึกแถวของโจทก์ซึ่งเป็นห้องครัวและห้องน้ำ ทำให้ไม่อาจเปิดพัดลมระบายอากาศออกไป และไม่อาจเปิดช่องหน้าต่างได้ ที่โจทก์ฎีกาขอให้บังคับจำเลยรื้อกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนมาด้วยนั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การก่อสร้างกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำในอาคารของโจทก์กับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศของโจทก์ซึ่งอยู่ถัดไปเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงพิพาทเฉพาะส่วนดังกล่าว จำเลยอุทธรณ์โดยโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้รื้อถอนกำแพงพิพาทส่วนที่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้รื้อถอนออกไปด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่า กำแพงพิพาทอยู่ในที่ดินของจำเลย เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในการชี้สองสถานว่า การก่อสร้างต่อเติมอาคารและการก่อกำแพงของจำเลยเป็นการขัดขวางรบกวนการใช้ประโยชน์ที่ดินของโจทก์ และเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวกำหนดจากส่วนหนึ่งของคำฟ้องและคำให้การที่คู่ความกล่าวอ้างและโต้แย้งกันว่า การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งตามคำให้การจำเลยได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ด้วยว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย การก่อสร้างกำแพงพิพาทจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า กำแพงพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนเบิกความยืนยันว่าจำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทในที่ดินของจำเลย โดยโจทก์มิได้ถามค้านและนำสืบโต้เถียงว่า กำแพงพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินของจำเลย จึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า กำแพงพิพาทอยู่ในเขตที่ดินของจำเลย
ปัญหาข้อสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทส่วนที่ปิดกั้นช่องลมห้องน้ำกับปิดกั้นพัดลมระบายอากาศเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ได้ความว่ามีการต่อเติมอาคารตึกแถวของโจทก์ในที่ว่างทางด้านหลังของที่ดินโจทก์เป็นห้องน้ำและห้องครัวเข้าไปใกล้อาคารของจำเลยมากขึ้น ห้องน้ำและห้องครัวดังกล่าวยังมีช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศไปยังบริเวณด้านหลังของอาคารด้วยย่อมเห็นได้ว่าอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวถูกระบายไปทางอาคารของจำเลย ทั้งจำเลยยังเบิกความยืนยันด้วยว่า จำเลยทำกำแพงพิพาทขึ้นปิดกั้นกลิ่นเหม็นที่ออกมาจากห้องน้ำและห้องส้วมของโจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทในเขตที่ดินของจำเลยเองด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ทั้งโจทก์อาจระบายอากาศเสียจากห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไปทางอื่นที่ไม่ทำให้เจ้าของอาคารใกล้เคียงรวมทั้งจำเลยเดือดร้อนได้ จึงถือไม่ได้ว่าการก่อสร้างกำแพงพิพาทดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์เดือดร้อนรำคาญ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าห้องน้ำและห้องครัวของโจทก์ไม่มีกลิ่นเหม็นยิ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจากการที่จำเลยก่อสร้างกำแพงพิพาทเพื่อปิดกั้นช่องหน้าต่างและพัดลมระบายอากาศดังกล่าว การก่อสร้างกำแพงพิพาทของจำเลยไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืนให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนจำเลย.

Share