คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 619/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมมาขอใช้บริการจากสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ สำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์จะเสนอคำขอ / สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมมาให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์พิจารณาอนุมัติ ย่อมถือได้ว่าคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยกรอกข้อความแล้วยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว เป็นการทำคำเสนอเพื่อขอใช้บริการวิทยุคมนาคมต่อโจทก์ ส่วนการพิจารณาอนุมัติคำขอและเปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมของสำนักงานใหญ่ของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งมีผลเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของจำเลยตามคำขอที่ได้ยื่นขอใช้บริการ แม้จะเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ก็เป็นตามปกติประเพณีการตกลงทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคม การกระทำในลักษณะนี้ได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นเมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้สนองรับคำเสนอโดยการเปิดสัญญาณวิทยุคมนาคมอันมีผลให้จำเลยสามารถใช้บริการวิทยุคมนาคมจากโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยผู้เสนอตาม ป.พ.พ. มาตรา 361 วรรคสองอีก ดังนั้น สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นเป็นศาลหนึ่งที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (6) และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,938.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมซึ่งถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคล โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในศาลก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ตามคำฟ้อง และทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า เมื่อจำเลยนำเครื่องวิทยุคมนาคมมาขอใช้บริการและทำคำขอ / สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูลาร์จากสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์แล้ว สำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์จะเสนอคำขอ / สัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าวมาให้สำนักงานใหญ่ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นพิจารณาอนุมัติ กรณีย่อมถือได้ว่าคำขอใช้บริการวิทยุคมนาคมที่จำเลยกรอกข้อความแล้วยื่นต่อสำนักงานสาขาหรือตัวแทนของโจทก์ดังกล่าว เป็นการทำคำเสนอเพื่อขอให้บริการวิทยุคมนาคมต่อโจทก์ ส่วนการพิจารณาอนุมัติคำขอและเปิดสัญญาณคลื่นวิทยุคมนาคมของสำนักงานใหญ่ของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำอันใดอันหนึ่งซึ่งมีผลเป็นการแสดงเจตนาสนองรับคำเสนอของจำเลยตามคำขอที่ได้ยื่นขอใช้บริการ แม้จะเป็นการแสดงเจตนาที่กระทำต่อจำเลยซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า แต่ก็ถือได้ว่าตามปกติประเพณีการตกลงทำสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่กระทำขึ้นในลักษณะเช่นนี้ ได้เกิดเป็นสัญญาขึ้นเมื่อสำนักงานใหญ่ของโจทก์ได้สนองรับคำเสนอโดยการเปิดสัญญาณวิทยุคมนาคมอันมีผลให้จำเลยสามารถใช้บริการวิทยุคมนาคมจากโจทก์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำบอกกล่าวสนองไปถึงจำเลยผู้เสนอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 361 วรรคสองอีก เมื่อสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมระหว่างโจทก์กับจำเลยได้เกิดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นและโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้อันเกิดจากการใช้บริการตามสัญญาการใช้บริการวิทยุคมนาคมดังกล่าว จึงถือได้ว่าศาลชั้นต้นเป็นศาลหนึ่งที่มูลคดีนี้เกิดขึ้นในเขตศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share