แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถป้องกันได้และทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เมื่อทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วมีหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2547 ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วก็น่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินทางไปทำกิจธุระที่ต่างจังหวัด การที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่ต่างจังหวัดในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และกลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสีย จึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง กรณีถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้า ร่วมกันชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน และตามคำขอขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยแทนโจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ดังกล่าวให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และนางปียา จิตรเสนา ที่เป็นทรัพย์มรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบถ้วน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตโดยครั้งสุดท้ายอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 18 มีนาคม 2547
ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2547 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์โดยอ้างว่า ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำกิจธุระที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 และรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสียต้องซ่อมเป็นเหตุให้กลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทัน ขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 19 มีนาคม 2547
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า กรณีมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปทำกิจธุระที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 และรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสียต้องซ่อมเป็นเหตุให้กลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทัน เห็นว่า เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หมายความว่ามีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถป้องกันได้และทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่าทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทราบดีอยู่แล้วว่ามีหน้าที่ต้องยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 18 มีนาคม 2547 ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลา หากทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำอุทธรณ์เสร็จแล้วก็น่าจะดำเนินการยื่นอุทธรณ์หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแทนให้เรียบร้อยเสียก่อนที่จะเดินทางไปทำกิจธุระที่ต่างจังหวัด การที่ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ดำเนินการดังกล่าว แต่กลับเดินทางไปปฏิบัติภารกิจอื่นที่ต่างจังหวัดในวันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์และกลับมายื่นอุทธรณ์ไม่ทันเนื่องจากรถยนต์ที่ใช้เดินทางเสียจึงเป็นความผิดหรือความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 เอง กรณีถือไม่ได้ว่ามีเหตุสุดวิสัยเมื่อเหตุที่อ้างในคำร้องมิใช่เหตุสุดวิสัยที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่จำต้องไต่สวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน