แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนสามีโจทก์ตาย ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินสินเดิม (ซึ่งเป็นสินบริคณห์)ของสามีให้จำเลยโดยเสน่หาโดยมิได้รับความยินยอมของโจทก์จึงเป็นนิติกรรมที่ทำไปโดยมิชอบการเพิกถอนก็ต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะบางส่วนหาได้ไม่ เพราะที่ดินนี้เป็นสินเดิมทั้งแปลง
โจทก์ตั้งประเด็นฟ้องขอแบ่งที่พิพาทซึ่งสามีโจทก์ยกให้จำเลยก่อนตายอ้างว่าเป็นสินสมรส (ซึ่งเป็นสินบริคณห์) ระหว่างโจทก์กับสามีผู้ตายแต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าที่พิพาทเป็นสินเดิมของผู้ตายซึ่งต้องตกเป็นมรดกของผู้ตายอันจะพึงได้แก่ทายาทต่อไปเช่นนี้ศาลจะแบ่งที่พิพาทให้โจทก์ในชั้นนี้ยังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นฟ้องขอแบ่งในฐานะเป็นผู้รับมรดก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภรรยานายทัดโดยโจทก์มีสินเดิมฝ่ายเดียวระหว่างอยู่กินด้วยกันเกิดมีทรัพย์สิน คือ ที่ดินโฉนดที่ 2055 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2504 นายทัดได้โอนที่ดินให้จำเลยโดยเสน่หาโดยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบ ต่อมานายทัดตายที่ดินรายนี้โจทก์เป็นเจ้าของร่วมในฐานะเป็นสินบริคณห์ 2 ใน 3 ส่วน การที่นายทัดโอนให้จำเลยโดยโจทก์ไม่ยินยอมไม่สมบูรณ์ ขอให้เพิกถอนการโอน และแบ่งให้โจทก์ 2 ใน 3 ส่วน
จำเลยต่อสู้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 2055 เป็นของนายทัดแต่ผู้เดียวนายทัดโอนให้จำเลยโดยความสมัครใจ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอน และแบ่งที่ดินออกเป็น3 ส่วน โจทก์ได้ 1 ส่วน อีก 2 ส่วนเป็นกองมรดกของนายทัด
จำเลยฝ่ายเดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเฉพาะหนึ่งในสามส่วนแบ่งให้โจทก์
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดที่ 2055 เป็นสินเดิมของนายทัด ย่อมตกเป็นสินบริคณห์ระหว่างสามีภรรยาคือโจทก์และนายทัดตามกฎหมายการที่นายทัดยกที่ดินรายนี้ให้จำเลยโดยโจทก์ไม่ยินยอมด้วยจึงไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นการให้กันตามธรรมดา ศาลฎีกาเห็นต่อไปว่าการเพิกถอนนิติกรรมที่ทำไปโดยไม่ชอบเช่นนี้ต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะบางส่วนหาได้ไม่ เพราะที่ดินเป็นสินเดิมทั้งแปลง
ข้อที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้ส่วนแบ่งในที่พิพาท 1 ใน 3 นั้น จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีส่วนได้ จึงต้องวินิจฉัยว่าโจทก์พึงมีส่วนได้ดังฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์ตั้งรูปคดีมาว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายทัดผู้ตาย แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าที่พิพาทเป็นสินเดิมของนายทัดดังนั้น โจทก์ย่อมไม่มีส่วนแบ่งอย่างสินสมรส โจทก์จะได้ก็เพียงในฐานะเป็นผู้รับมรดกของนายทัดโดยเป็นคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1635 ที่ศาลทั้งสองให้แบ่งที่พิพาทให้โจทก์ในชั้นนี้ 1 ใน 3 จึงคลาดเคลื่อนเพราะโจทก์ไม่ได้ตั้งประเด็นฟ้องขอแบ่งในฐานะเป็นผู้รับมรดกของนายทัด ทั้งที่พิพาทเป็นสินเดิมของนายทัดผู้ตาย ก็ต้องตกเป็นมรดกของนายทัดอันจะพึงตกได้แก่ทายาทต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1625 ประกอบด้วยมาตรา 1513
พิพากษาแก้ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่พิพาทเสียทั้งอันและให้ที่ดินนั้นเป็นมรดกของนายทัดต่อไป ไม่ตัดสิทธิคู่ความที่จะว่ากล่าวขอแบ่งมรดกรายนี้ใหม่