แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยมีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดี และมีประสบการณ์จากการเป็นทนายความ จึงย่อมต้องมีความระมัดระวัง และมีความละเอียดรอบคอบในการทำสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสัญญาที่ผูกพันตนเอง ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะลงลายมือชื่อทำสัญญาในขณะที่ยังได้กรอกข้อความในเอกสารให้ครบถ้วน และแม้ในการขอกู้เงินจะกำหนดเวลาการผ่อนชำระหนี้ไว้เดือนละ 5,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 5 ปี แต่ต่อมาเมื่อทำสัญญาเงินกู้กันโดยได้มีการกำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ว่าจะชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ซึ่งจำแลยยินยอมลงลายมือชื่อโดยไม่โต้แย้งคัดค้านประการใด ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจยกเลิกกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงเดิมและกำหนดชำระหนี้กันใหม่ตามที่ระบุในสัญญากู้เงินคือชำระภายในกำหนด 1 ปี จำเลยจึงมิได้ทำสัญญาเงินกู้โดยสำคัญผิดในเงื่อนกำหนดเวลาชำระหนี้ หรือเพราะถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉลแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์สาขาถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 200,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี และชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นสุดของเดือน หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใด โจทก์มีสิทธิเรียกหนี้คืนก่อนกำหนดตามสัญญา กำหนดชำระหนี้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 เพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าว จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมใช้เงินส่วนที่ขาดจนครบ หลังจากทำสัญญาจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ จำเลยค้างชำระหนี้โจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 270,423.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 270,423.61 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 193,979.07 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้บังคับจำนองแก่ที่ดินที่จำนองเป็นประกัน หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระให้จำเลยชำระส่วนที่ขาดแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยให้การว่า สัญญากู้เงินเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่เคยตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.75 ต่อปี ไม่เคยตกลงชำระหนี้คืนภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 และไม่เคยตกลงให้คิดดอกเบี้ยทบต้น โจทก์กรอกข้อความเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลย และโจทก์ฉ้อฉลปกปิดข้อเท็จจริงนำเอกสารไปกรอกข้อความเองโดยจำเลยไม่ทราบ โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบถึงการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิม จำเลยไม่เคยให้สัตยาบันเกี่ยวกับสัญญากู้เงินท้ายฟ้อง จำเลยขอถือเอาคำให้การเป็นการบอกล้างนิติกรรมสัญญากู้เงินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 270,423.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากต้นเงิน 193,979.07 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 19 ตุลาคม 2539) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้จำเลยชำระหนี้ส่วนที่ขาดแก่โจทก์จนครบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ศาลชั้นต้นไม่รับคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยขอกู้เงินจำนวน 200,000 บาท จากโจทก์สาขาถนนท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเสนอจดทะเบียนจำนองที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ จำเลยขอผ่อนชำระหนี้เดือนละ 5,000 บาท และจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 5 ปี ซึ่งผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาถนนท่าแพได้อนุมัติให้จำเลยกู้เงินดังกล่าวตามเงื่อนไขที่เสนอปรากฏตามหนังสือขออนุมัติเครดิต ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2536 จำเลยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ซึ่งในสัญญาข้อ 4 มีข้อความว่า จำเลยจะชำระหนี้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 แต่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 30,000 บาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สัญญากู้เงินเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งในประเด็นนี้จำเลยฎีกาเป็นสาระสำคัญว่า ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินยังไม่ได้กรอกข้อความ และระยะเวลาผ่อนชำรหนี้ในสัญญากู้เงินดังกล่าวมิได้เป็นไปตามข้อตกลงในหนังสือขออนุมัติเครดิต หากจำเลยทราบเงื่อนไขให้ชำระหนี้ภายในเวลา 1 ปี จำเลยจะไม่ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยมีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอย่างดีและมีประสบการณ์จากการทนายความ จำเลยย่อมต้องมีความระมัดระวังและมีความละเอียดรอบคอบในการทำสัญญาผูกพันระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำสัญญาผูกพันตนเองกับผู้อื่นย่อมต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะลงลายมือชื่อทำสัญญาในขณะที่ยังไม่ได้กรอกข้อความในเอกสารให้ครบถ้วนประกอบข้อเท็จจริงได้ความตามหนังสือขออนุมัติเครดิตดังกล่าวว่า นอกจากจำเลยมีรายได้จากการประกอบอาชีพทนายความแล้ว จำเลยจะนำเงินที่กู้ยืมโจทก์ไปลงทุนประกอบธุรกิจด้านขายของชำซึ่งทำให้จำเลยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย ในขณะทำสัญญากู้เงิน จำเลยย่อมคาดคิดว่าอาจมีรายได้เพียงพอชำระหนี้โจทก์ให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 ปี พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยน่าเชื่อว่า ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินได้กรอกข้อความครบถ้วนแล้ว ดังนี้แม้ในการขอกู้เงินจากโจทก์สาขาถนนท่าแพ จำเลยจะขอผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เดือนละ 5,000 บาท ภายในกำหนดเวลา 5 ปี และผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาถนนท่าแพ ได้อนุมัติให้จำเลยกู้เงินตามเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือขออนุมัติเครดิตดังกล่าวก็ตาม แต่ต่อมาเมื่อทำสัญญากู้เงินกันโจทก์ได้กรอกข้อความเกี่ยวกับกำหนดเวลาชำระหนี้ในสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ว่า ผู้กู้จะชำระหนี้ตามสัญญาภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2537 ซึ่งจำเลยก็ยินยอมลงลายมือชื่อทำสัญญากับโจทก์โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ถือได้ว่าโจกท์และจำเลยสมัครใจยกเลิกกำหนดเวลาชำระหนี้ตามข้อตกลงเดิมและกำหนดเวลาชำระหนี้กันใหม่ตามที่ระบุในสัญญากู้เงิน โดยจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ภายในกำหนดเวลา 1 ปี จำเลยจึงมิได้ทำสัญญากู้เงินโดยสำคัญผิดในเงื่อนไขกำหนดเวลาชำระหนี้หรือเพราะถูกโจทก์ใช้กลฉ้อฉลแต่อย่างใด สัญญากู้เงินจึงไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ครบกำหนดเวลาชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินแล้วจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียงบางส่วนเป็นเงิน 30,000 บาท จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาทั้งโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชำระต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน