คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7155/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคสอง บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัย ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 2 ปี นับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด ดังนั้น แม้ลูกหนี้และกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันได้มีหนังสือรับสภาพหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยและขอผ่อนชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ แต่ลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย เมื่อนับถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงล่วงเลยกำหนดเวลา 2 ปีแล้ว การที่ลูกหนี้ร่วมกับผู้ร้องขอที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยระบุชื่อเจ้าหนี้รายนี้เป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งในจำนวนเจ้าหนี้หลายรายทั้งลูกหนี้ได้มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ให้ตรวจสอบและยืนยันยอดตามที่ปรากฏในบัญชีของลูกหนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้รับสภาพความรับผิดต่อเจ้าหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิดตามมาตรา 193/35 ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545 และตั้งลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2546 โดยมีผู้ทำแผนเป็นผู้บริหารแผน
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในมูลหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 897,927.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 670,868.39 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่าเป็นหนี้ที่ขาดอายุความ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามมาตรา 90/32 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 เป็นเพียงเอกสารเพื่อการตรวจสอบบัญชีของลูกหนี้มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มูลหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 882 วรรคสอง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่า เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า เอกสารหมายเลข 1 ท้ายบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของเจ้าหนี้ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 กลุ่มบริษัทลูกหนี้ทำแผนผังการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอนมีจำนวนหนี้ระยะเวลา และจำนวนเงินชดใช้แต่ละคราว มีตัวแทนของกลุ่มบริษัทลูกหนี้ลงนามไว้และตามเอกสารหมายเลข 2 ท้ายบันทึกถ้อยคำดังกล่าวเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่ามีการตกลงรับผ่อนชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 แต่ศาลล้มละลายกลางมิได้นำมาประกอบการวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาตรวจดูเอกสารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ท้ายบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของเจ้าหนี้ฉบับลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสาร โดยเอกสารหมายเลข 1 แสดงรายละเอียดเจ้าหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 ระบุชื่อบริษัทในเครือโดยใช้ชื่อย่อเป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีลูกหนี้รวมอยู่ด้วย และชื่อเจ้าหนี้เลขที่ พีวี. วันครบกำหนดชำระจำนวนเงินตาม พีวี. และจำนวนเงินที่แบ่งจ่ายเป็นงวดในปี 2541 ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม 2541 ส่วนเอกสารหมายเลข 2 เป็นสำเนาหนังสือของนางสาวนภาพร นามเชียงใต้ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทเอส. เอส. พี กรุ๊ป ทวงถามให้ชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยจำนวนเงิน 1,663,820 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยอ้างถึงหนังสือขอผ่อนชำระค่าเบี้ยประกันภัยของบริษัทเอส. เอส. พี กรุ๊ป ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2541 ที่เจ้าหนี้ประสงค์ให้ศาลรับฟังเพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ลูกหนี้เป็นผู้เอาประกันภัยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 และพฤษภาคม 2541 แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการเรียกให้ใช้หรือให้คืนเบี้ยประกันภัยท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลา 2 ปี นับแต่วันซึ่งสิทธิจะเรียกให้ใช้หรือคืนเบี้ยประกันภัยถึงกำหนด” แม้เอกสารหมายเลข 1 และหมายเลข 2 ดังกล่าวจะรับฟังได้ว่าลูกหนี้และกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกันได้มีหนังสือรับสภาพหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยและขอผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวต่อเจ้าหนี้ โดยกำหนดผ่อนชำระตั้งแต่เดือนเมษายนถึงธันวาคม 2541 อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งลูกหนี้มิได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย เมื่อนับถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2545 ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงล่วงเลยกำหนดเวลา 2 ปีแล้ว อย่างไรก็ดี การที่ลูกหนี้ร่วมกับผู้ร้องขอที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้โดยระบุชื่อเจ้าหนี้รายนี้เป็นเจ้าหนี้รายหนึ่งในจำนวนเจ้าหนี้หลายราย ทั้งลูกหนี้ยังได้มีหนังสือถึงเจ้าหนี้ให้ตรวจสอบและยืนยันยอดตามที่ปรากฏในบัญชีของลูกหนี้รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2544 ระบุว่า ตามบัญชีของเจ้าหนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2543 มีค่าเบี้ยประกันภัยค้างจ่ายจำนวน 848,006 บาท ตามสำเนาหนังสือแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2546 ระบุว่า ตามบัญชีของเจ้าหนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2545 เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยค้างจ่ายจำนวน 848,006 บาท ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้รับสภาพความรับผิดต่อเจ้าหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/35 ดังนั้น เมื่อนับแต่วันที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดดังกล่าวถึงวันที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อยู่ภายในกำหนดเวลา 2 ปี สิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความและคดีได้ความตามบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินฯ ท้ายคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งระบุรายการที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้เป็นค่าเบี้ยประกันภัยตามใบแจ้งหนี้ฉบับลงวันที่ 6 กันยายน 2544 จำนวนเงิน 670,868.39 บาท โดยในช่องหมายเหตุระบุว่าจากยอดหนี้เดิม 848,006 บาท เมื่อแจ้งยกเลิกกรมธรรม์แล้วคงเหลือ 670,868.39 บาท ทั้งใบแจ้งหนี้ดังกล่าวระบุไว้ด้วยว่าเป็นยอดเงินค่าเบี้ยประกันภัยค้างชำระในวันที่ออกใบแจ้งหนี้นั้น ดังนั้น เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 670,868.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2544 จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 670,868.39 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 กันยายน 2544 จนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ

Share