แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงชี้แจงพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ส่วนหนึ่งประกอบคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 และยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2544 ซึ่งผู้ทำแผนมีเวลาที่จะคัดค้านว่าต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอม หรือสำเนาไม่ถูกต้อง หรือนำพยานหลักฐานเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อหักล้างข้ออ้างของเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนก็มิได้กระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 เช่นนี้ จึงถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมพยานหลักฐานสำหรับการพิสูจน์มูลหนี้ที่ขอรับชำระโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93
สัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันนั้นไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น หากคู่สัญญานำสืบพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่า คู่สัญญาแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากันจริงแล้วคู่สัญญาย่อมผูกพันตามข้อตกลงในสัญญานั้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 และตั้งบริษัทบิ๊ก ดีเวลลอปเม้นท์ แพลนเนอร์ จำกัด ให้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกัน (Swap Transaction) เป็นต้นเงินจำนวน 98,603,465 บาท ดอกเบี้ยจำนวน 37,866,432.02 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 136,469,897.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามสัญญาจากต้นเงินนั้นนับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/29 แล้ว ปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์วินิจฉัยว่า ลูกหนี้ทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันกับเจ้าหนี้จริงและเป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จึงมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 123,303,080.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดตามสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันจากต้นเงินจำนวน 89,090,057.31 บาท นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะได้รับชำระเสร็จ
ผู้ทำแผนยื่นคำร้องคัดค้านว่า การทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันจะต้องทำสัญญาหลัก (Master Agreement) และเอกสารยืนยัน (Confirmation) ประกอบกัน แต่หนี้ที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ไม่มีสัญญาประธาน (สัญญาหลัก) ซึ่งกำหนดสิทธิหน้าที่และหนี้ของคู่สัญญาโดยละเอียด เช่น วิธีการคิดจำนวนเงินที่แลกเปลี่ยน วิธีการหักกลบลบหนี้ของจำนวนเงินที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องชำระแก่กัน การคิดดอกเบี้ยตลอดทั้งดอกเบี้ยผิดนัด เจ้าหนี้มีเพียงหนังสือยืนยันเลขที่ ที่เคเอสดับเบิลยู่ 027784/เอคิว ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2539 และเอกสารปลีกย่อยตามสำเนาเอกสารหมายเลข 1 ถึง 5 แนบท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้ จึงรับฟังไม่ได้ว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้มีหนี้ต่อกันเป็นจำนวนตามคำขอรับชำระหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้และลูกหนี้ทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันโดยเจ้าหนี้มีหนังสือยืนยันแสดงรายละเอียดข้อมูลสำหรับใช้ในการทำธุรกรรมเป็นพยานหลักฐาน แม้ไม่มีสัญญาหลักใช้ในการค้าตราสารอนุพันธ์ทางการเงินเป็นพยานหลักฐานเจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องร้องบังคับคดีได้ เจ้าหนี้จึงขอรับชำระหนี้รายนี้ได้ และเจ้าหนี้ได้แสดงวิธีการคำนวณหนี้การซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราถูกต้องแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของผู้ทำแผน
ผู้ทำแผนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของผู้ทำแผนในประการแรกตามที่ผู้ทำแผนอุทธรณ์ว่า เอกสารแนบท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้เป็นสำเนาเอกสาร ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 นั้น เห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำแถลงชี้แจงพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับหนี้ที่ขอรับชำระหนี้ส่วนหนึ่งประกอบคำแถลงต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2544 และยื่นเอกสารเพิ่มเติมอีกครั้งในวันที่ 6 มีนาคม 2544 ซึ่งผู้ทำแผนมีเวลาที่จะคัดค้านว่าต้นฉบับไม่มี หรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้อง หรือนำพยานหลักฐานเสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อหักล้างข้ออ้างของเจ้าหนี้ แต่ผู้ทำแผนก็มิใด้กระทำการดังกล่าวแต่อย่างใด จนกระทั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 เช่นนี้ จึงถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รวบรวมพยานหลักฐานสำหรับการพิสูจน์มูลหนี้ที่ขอรับชำระโดยชอบแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบการพิจารณาคำขอรับชำระหนี้ได้ ผู้ทำแผนอุทธรณ์ต่อไปว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้สัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันนั้น ผู้ทำแผนอุทธรณ์อ้างเหตุผลหลายประการสรุปได้ว่าตามสัญญาธุรกรรมดังกล่าวนี้ คู่สัญญาต้องทำสัญญาหลัก (Master Agreement) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนด สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา วิธีการคิดจำนวนเงินที่แลกเปลี่ยน วิธีหักกลบลบหนี้ จำนวนเงินที่จะต้องชำระแก่กัน การคำนวณดอกเบี้ยปกติและดอกเบี้ยผิดนัด ส่วนหนังสือยืนยันเป็นเพียงเอกสารประกอบสัญญาหลัก เพื่อกำหนดจำนวนเงิน สูตรการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศล่วงหน้าตามจำนวนที่คู่สัญญาต้องการ หนังสือยืนยันต้องอ้างอิงสัญญาหลักทุกครั้ง ดังนั้น การที่เจ้าหนี้ไม่มีสัญญาหลักมาเป็นพยานหลักฐานโดยมีเพียงหนังสือยืนยันกับสำเนาเอกสารท้ายคำแถลงเอกสารหมายเลข 1 ถึง 5 มาแสดงเท่านั้น ทั้งหนังสือยืนยันเจ้าหนี้ก็ไม่มีพยานหลักฐานที่แสดงว่าผู้ลงชื่อท้ายหนังสือเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลูกหนี้และเอกสารท้ายคำแถลงดังกล่าวก็ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าเจ้าหนี้ได้ปฏิบัติตามสัญญาด้วยการโอนเงินตามสัญญาให้ลูกหนี้ และลูกหนี้ได้รับเงินหรือประโยชน์ตามสัญญาแล้วแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าลูกหนี้ตกลงทำสัญญาและเป็นหนี้ตามสัญญาดังกล่าวตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้เห็นว่าสัญญาในลักษณะดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น หากคู่สัญญานำสืบพยานหลักฐานเพียงพอให้รับฟังได้ว่า คู่สัญญาแสดงเจตนาเข้าทำสัญญากันจริงแล้ว คู่สัญญาย่อมผูกพันตามข้อตกลงในสัญญานั้น คดีนี้แม้เจ้าหนี้ไม่มีสัญญาหลักมาแสดง ทั้งที่หนังสือยืนยันที่อ้างเป็นพยานก็มีข้อความอ้างถึงสัญญาหลัก แต่ตามคำแถลงของเจ้าหนี้ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 เจ้าหนี้ยืนยันว่า สัญญาหลักเป็นสัญญามาตรฐานที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยสมาคมนานาชาติเกี่ยวกับการทำธุรกรรมนี้ที่เรียกว่าไอเอสดีเอ หรือ ISDA อันเป็นชื่อย่อของสมาคมดังกล่าว ซึ่งสัญญาหลักนี้มีข้อความในลักษณะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปที่ผู้เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบดูได้ ส่วนข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการทำธุรกรรมต้องระบุไว้ในหนังสือยืนยัน และตามคำร้องที่ผู้ทำแผนยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางคัดค้านคำสั่งขอรับชำระหนี้รายนี้ ผู้ทำแผนก็กล่าวถึงลักษณะของสัญญาหลักว่ามีสาระสำคัญส่วนใดบ้าง อันแสดงว่าผู้ทำแผนซึ่งเป็นลูกหนี้เองก็ทราบลักษณะของสัญญาหลักแล้วเช่นกัน ทั้งตามหนังสือยืนยันเลขที่ทีเคเอสดับเบิลยู 027784/เอคิว ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2539 ที่เจ้าหนี้อ้างเป็นพยานหลักฐานก็ปรากฏมีชื่อนายสายัณห์ และนายถนอม เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนลูกหนี้ กับมีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้มีหน้าที่ต้องส่งมอบชำระเงินแก่ลูกหนี้พร้อมดอกเบี้ย ขณะที่ลูกหนี้ก็มีหน้าที่ส่งมอบชำระเงินแก่เจ้าหนี้ โดยมีข้อมูลจำนวนเงินที่ใช้ในการคิดคำนวณ วันที่ที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรม รายละเอียดอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสูตรการคำนวนจำนวนเงินที่ต้องชำระที่ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินประกอบ อันเป็นรายละเอียดที่ใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันได้ส่วนหนึ่ง ทั้งปรากฏว่าเมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ผู้ทำแผนได้โต้แย้งคัดค้านว่าเจ้าหนี้ไม่มีหลักฐานแสดงว่าผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือยืนยันเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลูกหนี้ แต่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับฟังหนังสือยืนยันเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยและเชื่อว่าลูกหนี้ทำสัญญากับเจ้าหนี้จริง ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอให้ศาลพิพากษายกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ผู้ทำแผนก็ไม่ได้โต้แย้งว่าผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือยืนยันไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลูกหนี้อีกแต่อย่างใด อันแสดงว่าผู้ทำแผนไม่ติดใจโต้แย้งข้อเท็จจริงนี้อีกต่อไป จึงถือได้ว่าลูกหนี้ยอมรับว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลูกหนี้ลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือยืนยันดังกล่าวจริง จึงฟังได้ว่าลูกหนี้ได้ทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันกับเจ้าหนี้จริง ส่วนปัญหาในเรื่องรายละเอียดของสิทธิหน้าที่ที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องปฏิบัติต่อกันตามสัญญานั้น เมื่อพิจารณารายละเอียดจากเอกสารท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้ฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 กับบัญชีของเจ้าหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นเพิ่มเติมในวันที่ 6 มีนาคม 2544 ประกอบกับหนังสือยืนยันซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการคิดคำนวณจำนวนเงินและวันที่ที่ต้องส่งมอบเงินแลกเปลี่ยนกันอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว เห็นได้ว่า หนังสือยืนยันดังกล่าวระบุรายละเอียดเลขที่ธุรกรรมไว้เป็นเลขที่ ทีเคเอสดับเบิลยู่ 027784/เอคิว ระบุหน้าที่ของเจ้าหนี้ที่ต้องส่งมอบชำระเงินบาทแก่ลูกหนี้พร้อมดอกเบี้ยเริ่มคิดตั้งแต่วันที่กำหนดทำธุรกรรมวันที่ 30 กันยายน 2539 เป็นต้นไป เริ่มชำระครั้งแรกวันที่ 30 ธันวาคม 2539 ครั้งต่อไปชำระเป็นรายไตรมาสในวันที่ 30 ของเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน 2540 และลูกหนี้ก็มีหน้าที่ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยโดยมีรายละเอียดวิธีคิดดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามที่ระบุในหนังสือยืนยัน และกำหนดชำระเป็นคราว ๆ ตรงกับวันที่เจ้าหนี้ต้องชำระแก่ลูกหนี้ดังกล่าวข้างต้นเช่นกัน นอกจากนี้ในหนังสือยืนยันฉบับนี้ยังระบุถึงบัญชีของเจ้าหนี้ที่ให้ลูกหนี้นำเงินเข้าบัญชีให้แก่เจ้าหนี้ไว้คือบัญชีธนาคารแบงก์ ออฟ อเมริกา สำนักงานกรุงเทพฯ บัญชีเลขที่ 29346057 และตามเอกสารท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้หมายเลข 1 ซึ่งเป็นรายการแสดงการโอนเงินจากบัญชีเลขที่ 6204-29346057 ธนาคารแบงค์ ออฟ อเมริกา สำนักงานกรุงเทพฯ อันเป็นบัญชีของเจ้าหนี้ รายการวันที่ 30 ธันวาคม 2539 มีการโอนเงินให้แก่ลูกหนี้จำนวน 2,020,314.72 บาท และตรงกับรายการในบัญชีตามเอกสารแสดงรายการในบัญชีของเจ้าหนี้บัญชีเลขที่ 29346057 วันที่ 30 ธันวาคม 2539 ส่วนการชำระเงินแก่ลูกหนี้งวดที่ 2 วันที่ 30 มีนาคม 2540 เจ้าหนี้มีเอกสารท้ายคำแถลงหมายเลข 2 ซึ่งมีลักษณะเป็นเอกสารที่ใช้ส่งให้แก่ลูกหนี้แสดงรายการคำนวณเงินที่เจ้าหนี้ต้องชำระแก่ลูกหนี้คำนวณได้เป็นเงิน 8,258,561.64 บาท และรายการคำนวณเงินที่ลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้เป็นเงิน 6,263,984.42 บาท โดยมีการแสดงตัวเลขต่าง ๆ ที่ใช้คำนวณจำนวนเงินที่ต่างฝ่ายต่างต้องชำระแก่กันโดยละเอียด ทั้งนี้โดยอ้างอิงเลขที่ธุรกรรม เลขที่ ทีเคเอส ดับเบิลยู 027784 ตรงกับเลขธุรกรรมในหนังสือยืนยัน และเมื่อหักยอดเงินที่ต่างต้องชำระแก่กันแล้วคงเหลือเป็นยอดเงินสุทธิที่ต้องชำระกันจริงโดยเจ้าหนี้เป็นฝ่ายต้องชำระเงินแก่ลูกหนี้เป็นเงิน 1,994,576.92 บาท และตามเอกสารรายการโอนเงินจากบัญชีของเจ้าหนี้เลขที่ 6204-29346057 ธนาคารแบงค์ ออฟ อเมริกา สำนักงานกรุงเทพฯ เอกสารท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้หมายเลข 4 ก็มีรายการโอนเงินจากบัญชีนี้ในวันที่ 31 มีนาคม 2540 เข้าบัญชีของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นเงิน 1,994,576.92 บาท ซึ่งตรงกับรายการในบัญชีของเจ้าหน้าที่เลขที่ 29346057 วันที่ 31 มีนาคม 2540 ที่ระบุถึงการโอนเงินโดยตัดเงินจากบัญชีของเจ้าหนี้ดังกล่าว จำนวน 1,994,576.50 บาท ไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีของลูกหนี้เลขที่ 116-3-10514-9 ต่อมาในการชำระงวดที่ 3 วันที่ 30 มิถุนายน 2540 ตามที่ระบุไว้ในหนังสือยืนยันก็ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารท้ายคำแถลงของเจ้าหนี้หมายเลข 3 ที่เจ้าหนี้ทำเอกสารเพื่อแจ้งแก่ลูกหนี้แสดงรายการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องชำระแก่กันตามธุรกรรมเลขที่ ทีเคเอสดับเบิลยู 027784 มีรายละเอียดตัวเลขการคิดคำนวณและวิธีการคำนวณโดยละเอียด ซึ่งปรากฏผลการคำนวณว่า เจ้าหนี้ต้องชำระเงินแก่ลูกหนี้จำนวน 8,258,561.64 บาท และลูกหนี้ต้องชำระเงินแก่เจ้าหนี้จำนวน 6,271,292.59 บาท หักกันแล้วเหลือจำนวนเงินสุทธิที่ต้องชำระกันจริงโดยฝ่ายเจ้าหนี้เป็นฝ่ายต้องชำระแก่ลูกหนี้จำนวน 1,987,269.05 บาท และตามเอกสารการโอนเงินจากบัญชีเลขที่ 29346057 ธนาคารแบงค์ ออฟ อเมริกา สำนักงานกรุงเทพฯ เอกสารท้ายคำแถลง หมายเลข 5 มีรายการโอนเงินจากบัญชีนี้ในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,987,269.05 บาท ซึ่งก็ตรงกับบัญชีของเจ้าหนี้เลขที่ 29346057 รายการวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ที่แสดงรายการโอนเงินจากบัญชีเจ้าหนี้เลขที่ดังกล่าวจำนวน 1,987,269.05 บาท ไปยังธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เข้าบัญชีลูกหนี้เลขที่ 116-3-10514-9 ส่วนการชำระเงินงวดที่ 4 ที่ต้องชำระวันที่ 30 กันยายน 2540 อันเป็นวันสิ้นสุดธุรกรรมตามหนังสือยืนยัน เจ้าหนี้ได้แสดงรายละเอียดการคำนวณหนี้ไว้ในคำแถลงฉบับลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 หน้า 7 และ 8 โดยคำนวณดอกเบี้ยจากวันถัดจากวันชำระงวดที่ 3 กล่าวคือ คิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ถึง 30 กันยายน 2540 และคิดคำนวณจำนวนเงินที่ลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ในช่วงระยะเวลาเดียวกันแต่ในครั้งนี้มีการรวมต้นเงินที่ต้องชำระแก่กันเข้าไปด้วย เนื่องจากครบกำหนดสิ้นสุดธุรกรรมแล้ว ปรากฏว่าเจ้าหนี้ต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่ลูกหนี้รวมจำนวน 258,034,246.58 บาท และลูกหนี้ต้องชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้รวมจำนวน 347,124,303.89 บาท หักแล้วคงเหลือเงินสุทธิที่ต้องชำระแก่กันโดยฝ่ายลูกหนี้ต้องชำระแก่เจ้าหนี้จำนวน 89,090,057.31 บาท จากรายละเอียดในพยานเอกสารดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงวิธีการคำนวณจำนวนเงินที่ต่างฝ่ายต่างต้องชำระต่อกันตามสัญญาไว้โดยละเอียดแล้วยังมีหลักฐานที่แสดงว่าลูกหนี้ได้รับประโยชน์จากธุรกรรมในการส่งมอบชำระเงินแก่กันถึง 3 งวด โดยมีหลักฐานการโอนเงินจากบัญชีของเจ้าหนี้เข้าบัญชีของลูกหนี้แล้วตามบัญชีของเจ้าหนี้ แม้บัญชีดังกล่าวจะเป็นเอกสารภาษาอังกฤษแต่เอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นบัญชีแสดงยอดเงินและรายการทางบัญชีต่าง ๆ รวมทั้งเลขที่บัญชีที่เป็นตัวเลขซึ่งสามารถเข้าใจได้ในตัวเอง ส่วนคำภาษาอังกฤษก็เป็นสัญลักษณ์ทางบัญชีทั่วไป กับชื่อธนาคารแบงค์ ออฟ อเมริกา ชื่อเจ้าหนี้ และชื่อลูกหนี้ ซึ่งตรงกับเอกสารฉบับอื่นที่มีคำแปลอยู่แล้ว ย่อมทำความเข้าใจและใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ทำแผนซึ่งเป็นลูกหนี้เองมีโอกาสโต้แย้งว่าบัญชีเลขที่ 116-3-10514-9 ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่บัญชีของลูกหนี้ แต่ผู้ทำแผนก็ไม่โต้แย้งหรือปฏิเสธแต่อย่างใด จึงเชื่อว่ามีการโอนเงินให้แก่ลูกหนี้แล้วจริง จากข้อมูลรายละเอียดในเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นว่า นอกจากลูกหนี้จะลงลายมือชื่อในหนังสือยืนยันอันแสดงว่าลูกหนี้ได้ทำสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันกับเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังได้รับเอาไว้ซึ่งประโยชน์ตามสัญญานี้ตามรายการที่เจ้าหนี้ได้แสดงวิธีการคิดคำนวณตามข้อตกลงแห่งธุรกรรมดังกล่าวแล้ว โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ได้โต้แย้งว่าเจ้าหนี้ได้คิดคำนวณจำนวนเงินไม่ถูกต้องหรือผิดจากข้อสัญญาแต่อย่างใดทั้งปรากฏว่าลูกหนี้ได้รับประโยชน์ตามสัญญาไว้แล้วและผู้ทำแผนก็ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่าเจ้าหนี้คำนวณจำนวนหนี้ผิดจากข้อตกลง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าลูกหนี้เป็นหนี้แก่เจ้าหนี้ตามสัญญาธุรกรรมเพื่อการส่งมอบเงินตราแลกเปลี่ยนกันจริง ที่ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้ และพิพากษายกคำร้องคัดค้านของผู้ทำแผนชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ทำแผนฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน