คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7077/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยนำเงินที่โจทก์ร่วมและจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนไปโดยอ้างว่ามีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นและเงินส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนร่วมกัน เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกัน เงินที่จำเลยนำไปดังกล่าวจึงเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจนกว่าจะมีการเลิกการเป็นหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชี ดังนั้น แม้จำเลยจะมีความประสงค์จะเลิกเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วม แต่เมื่อยังไม่มีการตกลงเลิกหุ้น ทั้งยังไม่มีการชำระบัญชีว่าเงินส่วนนี้จะเป็นของโจทก์ร่วมและจำเลยจำนวนเท่าใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเงินที่เป็นของหุ้นส่วนไปใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนตัว เมื่อจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก็หลบหนีไม่ยอมกลับไปทำงานอีกจนเกือบหนึ่งปีจึงถูกจับกุม ย่อมแสดงได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 468,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา ห้างหุ้นส่วนจำกัดแกรนด์ เฮ้าส์ คอนสตรัคชั่น ผู้เสียหายยี่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 468,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายดานัย อ่ำบุญ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ร่วมกับจำเลยเข้าเป็นหุ้นส่วนกันเพื่อทำงานรับเหมาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2540 บริษัทที.เจ.พี. เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สั่งจ่ายเช็คจำนวนเงิน 468,000 บาท เพื่อชำระหนี้ค่าก่อสร้างแก่โจทก์ร่วมโดยระบุชื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้รับเงิน เมื่อโจทก์ร่วมนำเช็คเข้าบัญชีแล้วนายดานัยได้เบิกเงินจำนวนดังกล่าวมอบให้แก่จำเลยเพื่อนำไปชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างแก่บริษัทเจริญชัยค้าวัสดุ จำกัด ถ้ามีส่วนเหลือให้นำไปจ่ายแก่คนงาน แต่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วไม่ไปทำงานกับโจทก์ร่วมอีกมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเอาเงินจำนวน 468,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ทั้งโจทก์ร่วมและจำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในฐานะหุ้นส่วนไป แต่อ้างว่าไม่มีเจตนาทุจริตเพราะจำเลยมีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นและเงินส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนร่วมกัน เห็นว่า เมื่อโจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันเงินที่จำเลยนำไปดังกล่าวเป็นของผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมกันจนกว่าจะมีการเลิกการเป็นหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชีกัน ดังนั้น แม้จำเลยจะมีความประสงค์จะเลิกเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์ร่วมแต่เมื่อยังไม่มีการตกลงเลิกหุ้นทั้งยังไม่มีการชำระบัญชีว่าเงินส่วนนี้จะเป็นของโจทก์ร่วมและจำเลยมีจำนวนเท่าใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิโดยชอบที่จะนำเงินที่เป็นของหุ้นส่วนไปใช้เป็นประโยชน์แก่ส่วนตัวโดยเฉพาะเมื่อจำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปแล้วก็หลบหนีไม่ยอมกลับไปทำงานอีกจนเกือบหนึ่งปีจึงถูกจับกุม พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินจำนวน 468,000 บาท ที่โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยได้เบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปเป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานยักยอก ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยไม่ได้ทุจริตและพิพากษาฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่เห็นว่าตามพฤติการณ์มิใช่เรื่องร้ายแรง การลงโทษจำคุกจำเลยในกรณีเช่นนี้น่าจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมโดยรวม โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้โดยให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 468,000 บาท แก่โจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นหุ้นส่วนกัน จึงเป็นเจ้าของร่วมกันในจำนวนเงินดังกล่าว โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิเพียงกึ่งหนึ่งของเงินจำนวนดังกล่าวด้วย”
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 234,000 บาท แก่โจทก์ร่วม

Share