คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในคดีนี้ให้แบ่งมรดก คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วยนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะจำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นจำเลยในคดีนี้ก็ด้วยการที่ศาลชั้นต้นเรียกให้เข้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)
ผู้ตายซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 ได้ทำพินัยกรรมยกสินสมรสส่วนที่เป็นของจำเลยที่ 2 ให้แก่ทายาท ต่อมาจำเลยที่ 2 และทายาทอื่น ๆ ได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์ทั้งหมดรวมทั้งสิ้นของจำเลยที่ 2 ให้แก่ทายาทรวมทั้งตัวของจำเลยที่ 2 ด้วยโดยแบ่งออกเป็นส่วน ๆ กำหนดส่วนที่ทายาทแต่ละคนจะได้รับ พฤติการณ์เช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าทายาทของผู้ตายไม่ถือว่าจะต้องแบ่งทรัพย์ตามพินัยกรรม แต่หากต่างตกลงแบ่งกันตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันได้แก่กัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ และแต่ละฝ่ายจึงได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้น และถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมตกลงด้วยในฐานะที่เป็นภรรยาของผู้ตายและฐานะเป็นทายาทด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกสินสมรสส่วนของตนให้ผู้อื่น จึงไม่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดสำหรับการยกให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายบรรลือผู้ตายบิดาโจทก์ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์บางส่วนให้โจทก์ ต่อมาทายาทของผู้ตายรวมทั้งนางสมบุญซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ ๑ และเป็นภรรยาของผู้ตายได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ใจความว่า นางสมบุญ และทายาททุกคนยอมถือปฏิบัติตามพินัยกรรม แต่เนื่องจากทายาทบางคนได้ตายไปก่อนเจ้ามรดก จึงได้ตกลงประนีประนอมยอมความโดยการแบ่งส่วนทั้งหมดออกเป็น ๙๗ ส่วน ทายาทแต่ละคนได้ส่วนที่แน่นอนตามที่ระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยที่ ๑ เข้าเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ไม่ยินยอมแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ตามสัญญา โดยอ้างว่าทรัพย์สินตามพินัยกรรมต้องแบ่งออกเป็นของนางสมบุญครึ่งหนึ่งก่อน ที่เหลือจึงแบ่งให้ทายาท โจทก์ได้ฟ้องนางสมบุญต่อศาลขอให้แบ่งทรัพย์สินตามพินัยกรรม คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ขอให้บังคับให้จำเลยที่ ๑ แบ่งทรัพย์ให้
ศาลชั้นต้นเห็นสมควรเรียกนางสมบุญเข้ามาเป็นจำเลยด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗(๓) นางสมบุญจึงเข้ามาเป็นจำเลยที่ ๒
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางสมบุญเป็นภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเพียงคนเดียว ผู้ตายไม่มีสิทธินำสินบริคณห์อันเป็นสินสมรสส่วนของจำเลยที่ ๒ ต่อศาลขอแบ่งมรดกอย่างเดียวกับคดีนี้ คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้อน
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน ผู้ตายไม่มีสิทธินำส่วนของจำเลยที่ ๒ ได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้อื่น การที่จำเลยที่ ๒ ลงชื่อในข้อตกลงทายาทมีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ ๒ ยอมแบ่งทรัพย์ของผู้ตายตามพินัยกรรมเท่านั้น ไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ที่จะต้องยอมแบ่งสินสมรสส่วนของตนให้แก่ทายาทอื่นด้วย จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายจึงไม่ต้องแบ่งทรัพย์ให้โจทก์ตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม โดยให้กับสินบริคณห์อันเป็นสินสมรส่วนของจำเลยที่ ๒ ออกครึ่งหนึ่งก่อน
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างทายาทนั้น จำเลยที่ ๒ แสดงออกทั้งในฐานะทายาทและคู่สมรสผู้ตาย ยอมให้เอาสินบริคณห์ส่วนของตนเข้ากองมรดกแบ่งให้แก่ทายาท เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มีผลบังคับได้ พิพากษาแก้ ให้แบ่งทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกของทายาทเป็นการแบ่งทรัพย์กันนอกเหนือไปจากข้อกำหนดในพินัยกรรม มีการแบ่งทรัพย์กันตามข้อกำหนดของพินัยกรรมบางข้อเท่านั้น ฟังได้ว่าทายาทผู้ตายไม่ถือว่าจะต้องแบ่งทรัพย์กันตามพินัยกรรม แต่หากต่างตกลงแบ่งกันตามที่เห็นสมควร เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างผ่อนผันให้แก่กันข้กตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๘๕๐ แต่ละฝ่ายจึงได้สิทธิตามที่แสดงไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๒ และเห็นว่าจำเลยที่ ๒ ยอมตกลงด้วยทั้งในฐานะทายาทและภรรยาผู้ตายด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ ๒ ยกสินสมรสส่วนของตนให้ผู้อื่นจึงไม่ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดสำหรับการยกให้
พิพากษายืน

Share