คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้การที่จำเลยทั้งสองเอาเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ การออกเช็คของจำเลยดังกล่าวจะมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อ ชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อ ไม่มีการชำระเงินตามเช็คที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่าย ย่อมเกิด เป็นหนี้ระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุ ในเช็คนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898,900 ซึ่งในกรณีนี้หากจำเลยทั้งสองออกเช็คฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้ ตามเช็คเดิมที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว เช็คที่ จำเลยออกในภายหลังนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เช็คฉบับแรก ปรับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 60,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี เช็คฉบับที่สองปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2มีกำหนด 6 เดือน รวมปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 110,000 บาทจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยโจทก์และจำเลยทั้งสองมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เดิมจำเลยที่ 2 ได้มาขอให้โจทก์ช่วยจ่ายเงินทดรองเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานจำเลยที่ 1 โจทก์ตกลงจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 3,000,000 บาท หลังจากนั้นประมาณ 5 ถึง 6 วัน จำเลยที่ 2 จึงได้นำเช็คที่จำเลยทั้งสองร่วมกันสั่งจ่ายฉบับละ 1,000,000 บาท รวม 3 ฉบับ ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.6ถึง ล.8 มามอบให้โจทก์ ครั้นเช็คดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงินโจทก์ได้นำไปเข้าบัญชี ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คทั้ง 3 ฉบับ ได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย ล.23 ถึง ล.25เมื่อโจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองจำเลยที่ 2 ได้ชำระเงินให้โจทก์500,000 บาท ส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ ฉบับแรกจำนวนเงิน 2,000,000 บาท และฉบับที่สองจำนวนเงิน 500,000 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12มอบให้โจทก์เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลเหมือนกันว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ปรากฏตามใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.11 และ จ.13คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า เช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.12 เป็นเช็คค้ำประกันการที่โจทก์จ่ายเงินทดรองให้แก่จำเลยที่ 1หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2536จำเลยที่ 2 ได้ขอร้องให้โจทก์จ่ายเงินทดรองให้แก่จำเลยที่ 1ก่อน เพื่อจะได้นำไปใช้จ่ายในการบริหารงาน โจทก์จึงจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 3,000,000 บาท หลังจากนั้นประมาณ 5 ถึง 6 วัน จำเลยที่ 2 จึงได้นำเช็คที่จำเลยทั้งสองร่วมกันออกฉบับละ 1,000,000 บาท รวม 3 ฉบับ มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินทดรองจ่าย เมื่อถึงกำหนดตามเช็ค โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 3 ฉบับ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ 2 จึงชำระเงินให้โจทก์ 500,000 บาท เงินที่เหลือได้ชำระหนี้เป็นเช็คพิพาท 2 ฉบับ เห็นว่า นอกจากโจทก์จะมีบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 30 กันยายน 2537 เอกสารหมาย จ.16 ซึ่งระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ในรายการหนี้สินหมุนเวียนจำนวน 2,500,000 บาทเอกสารดังกล่าวจัดทำขึ้นหลังจากวันออกเช็คพิพาทและมีจำนวนเงินตรงกันแล้ว โจทก์ยังมีสำเนาคำพิพากษาศาลแพ่งเอกสารหมาย จ.31ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เรียกเงินตามเช็คพิพาท โดยศาลแพ่งได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินทดรองจ่ายและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ เป็นเช็คที่จำเลยทั้งสองออกให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินทดรองจ่าย ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่าเช็คพิพาทเป็นเช็คค้ำประกันนั้นเป็นเพียงคำเบิกความลอย ๆ ของพยานทั้งสอง จึงยังไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่จำเลยฎีกาต่อมาว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534นั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้นหนี้เดิมจึงต้องมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย เมื่อหนี้เดิมจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดทางอาญา การที่จำเลยทั้งสองได้นำเช็คพิพาทมาแลกเอาเช็คทั้ง 3 ฉบับ ที่จำเลยทั้งสองออกชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นหนี้เดิมและเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โจทก์จะมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยทั้งสองเอาเช็คไปแลกเงินสดจากโจทก์ การออกเช็คของจำเลยดังกล่าวจะมิใช่เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง และบังคับได้ตามกฎหมาย ไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ก็ตามแต่ การที่จำเลยทั้งสองออกเช็คแล้วนำไปแลกเงินสดจากโจทก์ แล้วเช็คดังกล่าวไม่มีการชำระเงินตามที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายนั้น ย่อมเกิดเป็นหนี้ระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์ตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 899, 900 ซึ่งในกรณีนี้หากจำเลยทั้งสองออกเช็คฉบับใหม่เพื่อชำระหนี้ตามเช็คเดิมที่จำเลยทั้งสองออกให้แก่โจทก์ดังกล่าว เช็คที่จำเลยออกในภายหลังนี้ย่อมถือได้ว่าเป็นเช็คที่ออกเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 ได้ เมื่อคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาททั้ง 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.10 จ.12 ชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 จึงต้องถือว่าจำเลยทั้งสองได้ออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ตามเช็คเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยจึงต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คมาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share