คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3062/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยต้องขังในเรือนจำในระหว่างพิจารณามาตลอดและยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาต่อศาลชั้นต้นจำเลยย่อมไม่อาจทราบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์โดยละเอียดถี่ถ้วนในข้อที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านว่า ศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสำนวนความเป็นเหตุให้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยในสถานหนักจำเลยจึงไม่อาจจัดทำฎีกาได้ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 49, 58, 91, 92ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสอง,66 วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78ประกอบมาตรา 52(1) คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา จำเลยที่ 2ไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 2ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา โดยขอสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 และขอกระดาษแบบพิมพ์ที่ใช้ในศาลด้วย

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนคดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยื่นฎีกา ยกคำร้องของจำเลยที่ 1และแจ้งคำสั่งศาลให้จำเลยที่ 1 ทราบโดยหนังสือศาลชั้นต้นลงวันที่ 8กุมภาพันธ์ 2543 ว่าไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลาฎีกา

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกาและไม่คัดสำเนาคำพิพากษาให้

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ให้ศาลชั้นต้นคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งฉบับโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีมีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยที่ 1 หรือไม่เห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ แต่จำเลยที่ 1 ก็อุทธรณ์คัดค้านดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้น ดังนั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะได้พิพากษายืนให้คงลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ยังไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นอ้างเหตุว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่อาจยื่นฎีกาจึงไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกา ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและบทบัญญัติของกฎหมายทั้งยังปรากฏด้วยว่า จำเลยที่ 1 ต้องขังในเรือนจำในระหว่างพิจารณามาตลอดและยังไม่ได้รับอนุญาตให้คัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาต่อศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ย่อมไม่อาจทราบเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6โดยละเอียดถี่ถ้วนในข้อที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คัดค้านว่าศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากสำนวนความเป็นเหตุให้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในสถานหนัก จำเลยที่ 1จึงไม่อาจจัดทำฎีกาเพื่อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2ได้ กรณีถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาฎีกาให้จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาฎีกานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นและศาลฎีกาเห็นสมควรขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 1 ออกไป 30 วันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้”

พิพากษากลับ ให้ขยายระยะเวลาฎีกาแก่จำเลยที่ 1 ออกไป30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้ให้จำเลยที่ 1 ฟัง

Share