คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9326-9327/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น. นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในนามของ น. เป็นเพียงการมีชื่อถือสิทธิครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แทนจำเลยทั้งสามเท่านั้น เมื่อ น. ถึงแก่กรรม ที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ น. การที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อ ส. สามีของโจทก์ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ในฐานะที่ ส. เป็นทายาทของ น. โดยที่ ส. ไม่มีสิทธิ ก็ไม่ทำให้ ส. ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสามตลอดมา แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามทำหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดิน ด้านทิศตะวันออกของถนนขอนแก่น – มัญจาคีรี ให้เป็นของจำเลยที่ 2 กับ ส. สามีของโจทก์ร่วมกัน สัญญาดังกล่าว ก็มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะ ส. สามีของโจทก์กับจำเลยทั้งสามมิได้มีข้อพิพาทกัน เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ น. ในขณะทำสัญญาหรือจะมีขึ้นในภายหน้า หากแต่เป็นสัญญาให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ มิได้มีการส่งมอบการครอบครอง แม้จำเลยทั้งสามจะทำเป็นหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินไว้ แต่ก็มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้จึงไม่สมบูรณ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสาม

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ น. ที่ตกทอดแก่ทายาททั้งหกคนซึ่งมีบิดาของผู้ร้องสอดที่ 1 และมารดาของผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นทายาทของ น. รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องสอดทั้งสองมีสิทธิรับมรดกแทนที่ จึงขอร้องสอดเข้าเป็นคู่ความเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอด
จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง
สำนวนหลัง โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่นำที่ดินมรดกมาแบ่งเป็น 6 ส่วน มอบให้แก่โจทก์ทั้งสองคนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกัน และหากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ยกฟ้องและยกคำร้องขอของผู้ร้องสอดทั้งสอง ให้โจทก์กับผู้ร้องสอดทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดให้โจทก์และผู้ร้องสอดทั้งสองใช้ค่าทนายความคนละ 3,000 บาท
โจทก์และผู้ร้องสอดทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และผู้ร้องสอดทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในสำนวนแรกเพียงว่า โจทก์มีสิทธิแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า การที่ น. ยกที่ดินพิพาทบางส่วนซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าให้แก่ ส. สามีของโจทก์กับยกที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสามตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ โดยส่งมอบการครอบครองให้แก่ ส. กับจำเลยทั้งสามแล้ว จึงเป็นการยกให้ที่สมบรูณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1378 ส. กับจำเลยทั้งสามย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองโดยไม่จำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ดังนั้น ที่ดินพิพาททั้งหมดจึงมิใช่ทรัพย์สินของ น. อีกต่อไป ต่อมา ส. ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว การซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าระหว่าง ส. กับจำเลยที่ 2 แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อ ส. ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว การซื้อขายที่ดินพิพาทย่อมสมบูรณ์ โดยการส่งมอบการครอบครองมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ น. นำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในนามของ น. จึงเป็นเพียงการมีชื่อถือสิทธิครอบครองหนังสือรับรองทำประโยชน์ (น.ส.3) แทนจำเลยทั้งสามเท่านั้น เมื่อ น. ถึงแก่กรรมที่ดินพิพาทจึงมิใช่ทรัพย์มรดกของ น. การที่เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนใส่ชื่อ ส. ลงในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ในฐานะที่ ส. เป็นทายาทของ น. โดยที่ ส. ไม่มีสิทธิก็ไม่ทำให้ ส. ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของจำเลยทั้งสามตลอดมา แม้ต่อมาจำเลยทั้งสามทำหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดิน โดยตกลงแบ่งที่ดินด้านทิศตะวันออกของถนนขอนแก่น-มัญจาคีรี ให้เป็นของจำเลยที่ 2 กับ ส. ร่วมกัน สัญญาดังกล่าวก็มิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะ ส. กับจำเลยทั้งสามมิได้มีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ น. ในขณะทำสัญญาหรือจะมีขึ้นในภายหน้า หากแต่เป็นสัญญาให้อสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) มิได้มีการส่งมอบการครอบครอง แม้จำเลยทั้งสามจะทำเป็นหนังสือสัญญาตกลงแบ่งแยกที่ดินไว้แต่ก็มิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การยกให้นี้จึงไม่สมบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาทจากจำเลยทั้งสาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ยกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนในสำนวนแรก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาสำหรับสำนวนแรกให้เป็นพับ และให้ยกฎีกาสำหรับสำนวนแรกให้เป็นพับ และให้ยกฎีกาของผู้ร้องสอดทั้งสองเสีย คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาสำนวนหลังทั้งหมดแก่ผู้ร้องสอดทั้งสอง ค่าทนายความชั้นฎีกาสำหรับสำนวนหลังให้เป็นพับ.

Share