แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีอาญาอีกเรื่องอื่นกับคดีนี้จำเลยเป็นคนเดียวกัน แต่เป็นการลักทรัพย์ผู้เสียหายคนละคนกัน โดยลักทรัพย์ของผู้เสียหายคนหนึ่งเสร็จแล้วจึงไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายอีกคนหนึ่ง ทั้งทรัพย์ก็มิได้รวมอยู่ด้วยกัน โดยห่างกันเป็นร้อยเมตร อันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงมิใช่เป็นเหตุในลักษณะแห่งคดีเดียวกัน ซึ่งศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกัน
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) นอกจากเจ้าทรัพย์จะต้องเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมแล้ว จะต้องได้ความอีกว่า ทรัพย์ที่ถูกลักนั้น เป็นผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์หรือสัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการประกอบกสิกรรมด้วย แต่ตามฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าข้าวเปลือกที่จำเลยลักไปเป็นผลิตภัณฑ์หรือพืชพันธุ์ซึ่งผู้เสียหายมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม หรือได้มาจากการกสิกรรมหรือไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 335(12)ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักทรัพย์ข้าวเปลือก6 กระสอบ ปริมาตร 40 ถัง ราคา 2,500 บาท ของนายสายันณ์ พวงทอง ผู้เสียหาย ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์และพาทรัพย์นั้นไป ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยนี้กับจำเลยทั้งสามในคดีหมายเลขแดงที่ 614/2539 ของศาลชั้นต้นและยึดกระสอบป่านใส่ข้าวเปลือกของผู้เสียหายที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำไปขายเป็นของกลางโดยจำเลยร่วมเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตหรือมิฉะนั้นจำเลยกับพวกในคดีหมายเลขแดงที่ 614/2539 ของศาลชั้นต้น ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วย ประการใด ซึ่งข้าวเปลือก 6 กระสอบของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักไป โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 357, 83 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 2,500 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(12) วรรคสอง, 336 ทวิ, 83 จำคุก 6 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 2,500 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยร่วมเดินทางไปกับคนร้ายหลายคนที่ร่วมกันลักทรัพย์ข้าวเปลือกของผู้เสียหายซึ่งมีอาชีพกสิกรรมโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คดีนี้เป็นเหตุในลักษณะคดีกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 124/2541 ของศาลชั้นต้นซึ่งคดีถึงที่สุดแล้วและศาลจะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้ต่างกันได้หรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 124/2541 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้นั้น จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกัน แม้พวกคนร้ายจะเป็นชุดเดียวกันและกระทำการลักทรัพย์ติดต่อกัน แต่เป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายคนละคนกันกับผู้เสียหายคดีนี้ โดยเป็นการลักทรัพย์ของผู้เสียหายคนหนึ่งเสร็จแล้ว จึงไปลักทรัพย์ของผู้เสียหายอีกคนหนึ่ง ทั้งทรัพย์ก็มิได้รวมอยู่ด้วยกัน แต่อยู่ห่างกันเป็นร้อยเมตร อันเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน จึงมิใช่เป็นเหตุในลักษณะแห่งคดีเดียวกันซึ่งศาลจะต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริงของแต่ละคดีแตกต่างกันได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) ด้วยนั้น ความผิดตามมาตรา 335(12) ดังกล่าว นอกจากเจ้าทรัพย์จะต้องเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมแล้ว จะต้องได้ความอีกว่า ทรัพย์ที่ถูกลักนั้นเป็น ผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์หรือสัตว์ หรือเครื่องมืออันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการประกอบกสิกรรมด้วย แต่ตามฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏว่าข้าวเปลือกที่จำเลยกับพวกลักไปนั้นเป็นผลิตภัณฑ์หรือพืชพันธุ์ซึ่งผู้เสียหายมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมหรือได้มาจากการกสิกรรมหรือไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 335(12) แห่งประมวลกฎหมายอาญาศาลจึงไม่อาจลงโทษ จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(12) ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1), (7) วรรคสอง, 336 ทวิ, 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค